ตร.ชี้ แอบถ่ายใน รพ.สนาม มีความผิด พ.ร.บ.คอมฯ และละเมิดสิทธิผู้ป่วย





โฆษก บช.สอท. ชี้ กรณีมีการแชร์ภาพของผู้ป่วยที่เข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาลสนามแห่งหนึ่ง ในลักษณะการแอบถ่ายผู้ป่วยรายหนึ่งที่นอนอยู่บนเตียง อาจผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และละเมิดสิทธิผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 17 เม.ย.64 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. และโฆษก บช.สอท. กล่าวถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์นำเสนอเรื่อง “จวกเละ! แชร์หวิวภาพถ่ายผู้ป่วย รพ.สนาม” ว่ากรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้ เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ภาพของผู้ป่วยที่เข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาลสนามแห่งหนึ่ง ในลักษณะการแอบถ่ายผู้ป่วยรายหนึ่งที่นอนอยู่บนเตียง และทำให้เป็นประเด็นที่สังคมออนไลน์ให้ความสนใจและตั้งคำถามขึ้น ทั้งในเรื่องความเหมาะสมทางด้านจริยธรรมและในเรื่องของข้อกฎหมาย ในเรื่องความเหมาะสมทางด้านจริยธรรม ก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้วในการที่แอบถ่ายภาพของบุคคลอื่นและนำมาเผยแพร่โดยที่เจ้าตัวไม่รับรู้รับทราบและไม่ได้ให้ความยินยอม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น อีกทั้งยังเป็นการซ้ำเติมผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกด้วย

โฆษก บช.สอท.กล่าวต่อว่า ส่วนในเรื่องทางข้อกฎหมายการกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้นหรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 16 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และในฐานความผิดดังกล่าวนั้นเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป

รองโฆษก ตร. และโฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พี่น้องประชาชนใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีสติ ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองให้ดีก่อนทำการโพสต์สิ่งใดลงบนสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการคำนึงและเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นอยู่เสมอ และอย่าใช้สื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมาย หรือใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้อื่น เพื่อให้สื่อสังคมออนไลน์เป็นสังคมที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น.

 

ข่าวจาก : thairath

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: