ราชกิจจาฯ ประกาศข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 20 โควิด-19 ระลอกใหม่





ราชกิจจาฯ ประกาศข้อกำหนดตาม “พรก.ฉุกเฉิน” ฉบับที่ 20 โควิด-19 ระลอกใหม่ คุมเข้มพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด-พื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด

วันที่ 16 เมษายน 2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ความว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 นั้น

โดยที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมและผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการระบาดระลอกใหม่นี้ได้กระจายออกไปในหลายพื้นที่ค่อนข้างรวดเร็ว รัฐบาลโดยข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน รวมทั้งปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ในจังหวัดที่ได้ตรวจพบการระบาดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการสกัดกั้นและระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ได้อย่างทันท่วงที

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การห้ามการดำเนินการหรือจัดกิจกรรมหรือที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค

(1) ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่การใช้เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือการใช้เป็นสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออุปการะ หรือการใช้สถานที่ตามข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564

(2) ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณีกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

ข้อ 2 การปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร

ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยให้สั่งปิดสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยสิบสี่วัน

กรณีที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อได้มีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยสิบสี่วันแล้วตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 19) ลงวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564 ให้คำสั่งดังกล่าวคงมีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้ประเมินสถานการณ์และดำเนินการตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด

ข้อ 3 การกำหนดพื้นที่สถานการณ์

กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ดังนี้

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระยอง จังหวัดสงขลา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอุดรธานี รวม 18 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

(2) พื้นที่ควบคุม ให้พื้นที่จังหวัดอื่นนอกจากที่กำหนดใน (1) รวม 59 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุม

ข้อ 4 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์

กำหนดมาตรการควบคุมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสิบสี่วัน

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุด

ก. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา 23.00 น. ในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่น

ข. การจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

ค. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

ง. ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 น. สำหรับร้านหรือสถานที่ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 น.

จ. สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม

(2) พื้นที่ควบคุม

ก. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้การบริการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มและการบริโภคในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น.

ข. การจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

ค. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

ข้อ 5 การงดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทาง

รัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางในช่วงเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคที่อาจทำให้เสี่ยงหรือมีโอกาสติดโรค

การตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ตามมาตรการที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กำหนด และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยต้องมีการจัดระบบและระเบียบต่างๆ เป็นไป ตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติตามพื้นที่สถานการณ์ที่ ศปก.ศบค. กำหนด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: