ศาลยุติธรรม เลื่อนการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น 16-30เม.ย. ยังไม่กำหนดวันนัดใหม่





เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2564 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีแนวปฏิบัติการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ฉบับที่ 7 วันที่ 9 เม.ย. 2564

แต่ปัจจุบันเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ เป็นอุปสรรคต่อผู้มีอรรถคดีในการเดินทางไปติดต่อราชการศาล รวมถึงการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลในทุกพื้นที่

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรของศาลยุติธรรมและผู้มาติดต่อราชการศาล คณะอนุกรรมการศึกษาติดตามและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 จึงเห็นสมควรกำหนดให้มีแนวปฏิบัติเพิ่มเติมในด้านการบริหารจัดการคดีดังนี้

1.ให้ศาลชั้นต้นเลื่อนคดีจัดการพิเศษคดีสามัญและคดีสามัญพิเศษทุกคดีที่นัดพิจารณาระหว่างวันที่ 16-30 เม.ย. 2564 โดยยังไม่ต้องกำหนดวันนัดใหม่และแจ้งให้คู่ความและพยานที่ศาลมีหมายเรียกเพื่อทราบถึงการเลื่อนคดีดังกล่าวทางโทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด รวมทั้งการพิจารณาให้งดการออกหมายและส่งหมายแจ้งวันนัดสำหรับคดีทุกประเภทที่ผู้รับหมายมีภูมิลำเนาหรือที่พักอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยง (สีแดง) เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นก็ให้ดำเนินการส่งโดยวิธีการไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้หน่วยงานกรอกแบบฟอร์มแสดงจำนวนคดีที่เลื่อนไปตามวรรคหนึ่ง โดยวิธีสแกน QR Code ที่แนบท้าย

2.คดีจัดการพิเศษที่สามารถดำเนินการ ได้แก่ คดีอาญา เช่น นัดสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่จำเลยต้องขัง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนคดี จำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกระบวนพิจารณาและความพร้อมของระบบการประชุมทางจอภาพระหว่างศาลกับเรือนจำ ในการนี้ต้องให้ผู้ถูกคุมขังเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ อย่างแท้จริงและให้โอกาสในการโต้แย้งคัดค้านได้อย่างเต็มที่ตามข้อ 7 แห่งระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหรือสถานที่กักขังในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 พ.ศ. 2563

3.คดีแพ่ง เช่น คดีร้องขอจัดการมรดก คดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นคนสาบสูญ คดีร้องขอเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์หรือขออนุญาตทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ ศาลสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้หากไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้องและหากเลื่อนคดีไปอาจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความยินยอมของผู้ร้องด้วย และคดีอื่น ๆ ที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และองค์คณะพิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้โดยไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง และหากเลื่อนคดีไปอาจทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่ความเช่นคดีที่คู่ความขอส่งเอกสารเพิ่มเติม เนื่องจากไม่มีความพร้อมเรื่องเอกสารจากนัดที่แล้วหรือคดีที่เหลือการสืบพยานเพียง 1 ปากหรือเหลือพยานอีกจำนวนไม่มาก เป็นต้น

4.คดีจัดการพิเศษที่รับฟ้องใหม่ควรกำหนดนัดพิจารณาในช่วงตั้งแต่เดือน มิ.ย. – ก.ค. 2564 เป็นต้นไป แล้วแต่ปริมาณคดีของศาลและควรกำหนดกรอบจำนวนคดีที่นัดให้น้อยกว่าปกติ เพื่อรองรับคดีจัดการพิเศษที่อาจมีการเลื่อนคดีมาอีก โดยให้ดำเนินการส่งหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องให้คู่ความอีกฝ่ายโดยวิธีการไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก่อน

5.คดีสามัญ และคดีสามัญพิเศษ ที่สามารถดำเนินการ ได้แก่ คดีอาญาที่จำเลยต้องขังระหว่างพิจารณาคดีหรือคดีอื่น ๆ ที่คู่ความพร้อม และต้องการจะสืบพยานหรือคดีที่เจ้าของสำนวนและองค์คณะพิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้โดยไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง และหากเลื่อนคดีไปอาจทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่ความ เช่น คดีที่ศาลได้ดำเนินการสืบพยานหลักไปแล้ว คงเหลือการสืบพยานอื่นเพียง 1 ปากหรือเหลือพยานอีกไม่มากเป็นต้น แต่หากการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าว เจ้าของสำนวนและองค์คณะเห็นว่าจะไม่สามารถดำเนินไปได้ โดยปลอดภัยแก่ทุกฝ่ายก็อาจใช้ดุลพินิจให้เลื่อนคดีไปก่อนแต่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณี

6.ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกา ที่มีคดีนัดพิจารณาระหว่างวันที่ 16 – 30 เม.ย.64 อาจเลื่อนคดีได้ตามความเหมาะสม

กรณีมีคู่ความยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 10 เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อศาล ที่อยู่ในหรือนอกเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยง (สีแดง) แล้วแต่กรณี ให้ศาลที่ได้รับคำขอนั้น พึงพิจารณาให้ความอนุเคราะห์ในการทำคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

กรณีอื่น ๆ ให้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีฯ ฉบับที่ 6 ในเดือน เม.ย. และฉบับที่ 7 วันที่ 9 เม.ย. 2564

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: