ตั้ง กบช. หักเงินลูกจ้าง 3-10% เข้ากองทุนเงินออม ได้คืนอายุ 60 รายละเอียด ดังนี้





ครม. ไฟเขียวจัดตั้ง กบช. หักเงินลูกจ้าง 3-10% ต่อเดือน เข้ากองทุนเงินออม ได้รับเงินคืนหลังเกษียณอายุ 60 ปี ให้เข้ากองทุนอัตโนมัติ ใครโดนบ้าง เช็กรายละเอียดเลย !

วันที่ 30 มีนาคม 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงคนไทยวัยเกษียณ อยากให้มีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่มั่นคงหากไม่มีรายได้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ สำหรับแรงงานในระบบทุกประเภท หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับแรงงานภาคเอกชน

สำหรับฉบับแรก ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า กบช. ให้เป็นหน่วยงานของรัฐ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

วัตถุประสงค์ของกองทุน

ให้เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ สำหรับแรงงานในระบบทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์กรมหาชน และพนักงานในรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญ กองทุนนี้จะถือเป็นศูนย์กลางการบูรณาการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบำเหน็จบำนาญด้วย

ใครต้องเข้ากองทุนนี้บ้าง ?

ให้ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และไม่เกิน 60 ปี ที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องเป็นสมาชิกของ กบช.

ต้องจ่ายเงินสมทบเท่าไร ?

กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบแต่ละฝ่าย โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน เช่น

– ลูกจ้างตั้งแต่ปีที่ 1-3 จะต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3% ของค่าจ้าง
– ลูกจ้างตั้งแต่ปีที่ 4-6 ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 5% ของค่าจ้าง
– ลูกจ้างตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 7-10% ของค่าจ้าง

ส่วนกรณีที่ลูกจ้างมีเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินสมทบเพียงฝ่ายเดียว

ได้รับเงินคืนจาก กบช. เมื่อไร

การรับเงินจาก กบช. จะได้รับเมื่อสมาชิกมีอายุครบ 60 ปี โดยสามารถเลือกเป็นบำเหน็จ หรือบำนาญเป็นรายเดือนระยะเวลา 20 ปี

ส่วนร่างกฎหมายที่ 2 คือ ร่างกฎหมายคณะกรรมการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ จะเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการจัดระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการ จะมีทั้งหมด 10 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการ และเลขานุการ ซึ่ง ครม. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีการตรวจ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: