‘อนุทิน’ บอกเล่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เผย ตั้งใจเข้ามาสานต่อเจตนารมณ์





‘อนุทิน’ บอกเล่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เผย ตั้งใจเข้ามาสานต่อเจตนารมณ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ อาคารสำนักงาน บริษัทมติชน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)

ให้เกียรติเป็นประธานเปิดตัวหนังสือ “ระหว่างบรรทัด” และร่วมเสวนาพิเศษ “ร่วมทางเดียวกัน จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สูตร 30 บาทรักษาทุกที่” พร้อมถ่ายทอดบอกเล่าประสบการณ์ตรงระหว่างตนกับสปสช. ตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงปัจจุบัน

นายอนุทิน กล่าวว่า ตนต้องขอขอบคุณสำนักพิมพ์มติชนที่จัดพิมพ์หนังสือระหว่างบรรทัด และเชิญตนเป็นประธานในพิธีเปิดตัวหนังสือ หากจะให้เล่าจุดเริ่มต้นของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ต้องพูดถึง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นผู้ริเริ่มกำเนิดนโยบาย ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตนเคยร่วมงานกับกระทรวงฯ

ในฐานะ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ต่อจากนพ.สุรพงษ์ ซึ่งเห็นว่าเป็นนโยบายที่มีความสำคัญมากในการพลิกโฉมระบบสาธารณสุขของประเทศไทย เพราะประเทศไทย ต้องมีความมั่นคงในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ การเงิน ความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง และที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้คนในประเทศมีพื้นฐานสุขภาพที่ดี เข้าถึงระบบสุขภาพได้

“จริงๆ สำหรับผมมีคำหนึ่งที่ผมเกลียดที่สุด เกลียดการที่เห็นเพื่อนร่วมชาติถูกเขียนใบผู้ป่วยว่า ผู้ป่วยอนาถา คนไข้อนาถา คำนี้มันแสบหัวใจเหลือเกิน แต่เมื่อเรามีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคขึ้นมา ก็ทำให้ประชาชนเกิดสิทธิ รักษาที่เท่าเทียม การให้บริการคนไข้ทุกคน ลดคำว่าผู้ป่วยอนาถา เพียงเท่านี้ก็ทำให้เจตนารมณ์ของโครงการประสบความสำเร็จแล้ว” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ตนมาเกี่ยวข้องกับนโยบาย ตอนที่โครงการเริ่มตั้งไข่ได้แล้ว มีรัฐบาลให้การดูแล ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าเกิดภาวะล้มละลายในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีการปรับปรุงพัฒนาระบบของโครงการ จนเป็นที่มาของคำว่า 30 บาทรักษาทุกที่ เพราะการรักษาทุกโรคอย่างเดียวไม่พอ ต้องรักษาทุกที่ด้วย เพื่อให้เกิดการเข้าถึงมากขึ้น คนมีความคิดเห็นเป็นอย่างยิ่งว่า นโยบายสปสช. เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่มีคุณค่า เพราะโครงการนี้ทำเพื่อประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

“ถือเป็นพื้นฐานที่ดี ตอนนี้เรามีหน้าที่ต้องต่อยอด และสังคมไทยต้องไม่ลืมคนให้กำเนิดโครงการนี้ขึ้นมา และเราต้องทำโครงการนี้ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ให้ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย” นายอนุทิน กล่าว

ความทรงจำในช่วง 20 ปีที่ผ่านมากับสปสช. และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค นายอนุทิน เล่าว่า โครงการนี้ครอบคลุมตัวของมันเองอยู่แล้ว แม้จะมีรัฐบาลชุดใหม่มาแต่ก็ยังต้องสืบทอดโครงการนี้ต่อไป เพราะถูกฝังเป็นระบบของสาธารณสุขไปแล้ว ซึ่งตอนนี้เดินทางมาระยะหนึ่งแล้ว แม้จะมีอุปสรรคแต่ก็ไม่มีใครกล้ายกเลิกหรือไปทำให้เกิดอุปสรรคขึ้นมา เราก็ต้องลุยต่อและใช้เวลาแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวัน

“ความขลังของโครงการนี้ ตอนที่ผมมารับช่วงต่อ นพ.สุรพงษ์ ซึ่งโครงการกำลังเป็นโมเมนตัมที่แกว่งไปมา อาจจะมีหลุมอากาศบ้าง แต่เราก็แก้ไป ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ช่วงนั้นเรามีความเข้มแข็งมาก เป็นไพลอตโปรเจค(pilot project) ของรัฐบาลชุดนั้น เพราะว่าหยุดไม่ได้แล้ว มีแต่ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ตอนแรกโครงการรักษาทุกโรค ก็ไม่ได้รักษาได้ทุกโรค ยังรักษาเฉพาะโรคส่วนใหญ่ที่พบในผู้ป่วย แต่ในตอนนี้เมื่อเวลาผ่านไป มันสามารถรักษาทุกโรคได้แล้วจริงๆ อาจจะใช้เวลา 10 – 20 ปี แต่ก็ทำให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของโครงการนี้ประสบความสำเร็จแล้ว ทุกวันนี้แม้กระทั่งโรคหายาก(Rare Disease) ก็สามารถรักษาได้” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามถึงช่วงปัจจุบันของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายอนุทิน กล่าวว่า “ผมห้อยหลวงพ่อเลี๊ยบ” ตอนที่ตนเข้ามาทำงานในรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งใจเป็นอันดับแรกว่าจะเข้ามาเป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข” ตนตั้งเข็มมา

โดยไม่มีทางเลือกอื่นเลย และคนแรกที่ตนติดต่อไปหลังทราบผลการเลือกตั้ง คือ นพ.สุรพงษ์ ซึ่งยอมรับว่า ความตั้งใจแรกของตน ที่ได้เข้ามาดูแลกระทรวงฯ นี้ คือ การพัฒนาโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ดีขึ้น ให้เข้มแข็ง ให้มั่นคงขึ้น แม้ช่วงแรกที่เข้ามาทำงานก็อาจเกิดความขัดแย้งบ้าง แต่เป้าหมายของการขัดแย้งไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

“ความตั้งใจแรกที่เข้ามาทำงานในกระทรวงฯ คือ การนำ สปสช. เข้ามาทำงานร่วมกันกับกระทรวงฯ เราต้องใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่มาแก้ปัญหาไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเกิดจุดที่เราเห็นด้วยร่วมกัน ระหว่างรัฐมนตรี ข้าราชการกระทรวงฯ และเจ้าหน้าที่สปสช. ความล้มเหลวก็จะไม่เกิดขึ้น ผมบอกทุกคนว่า วันนี้ใช้งานผมให้มากที่สุด เพราะว่าตอนนี้กระทรวงฯ มีความสำคัญต่อประชาชนมาก ผมเองก็เป็นพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ดังนั้นจะต้องมีความเกรงใจเกิดขึ้นระดับหนึ่งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล หรือ หัวหน้ารัฐบาล ในการที่เราจะผลักดันนโยบายต่างๆ ในกระทรวงฯ ที่เราควบคุมอยู่” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า

ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย มีหลายคนที่บอกว่า สปสช. เป็นแดนต้องห้าม แต่ตนก็ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ ที่สำคัญอย่างยิ่ง การที่ตนยืนอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี ควบคู่ ประธานบอร์ดสปสช. ดังนั้น สปสช. กับ กระทรวงฯ จะทะเลาะกันไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะต้องแยกบทบาทให้ถูกต้อง และเมื่อทะเลาะกันไม่ได้ สิ่งเดียวที่ต้องทำคือร่วมมือกันทำงาน


“การยกระดับบัตรทอง ขณะนี้ไปไกลถึงขนาดว่า รักษาทุกโรค รักษาทุกที่ และมีหลักวิชาการเติมเข้ามาอีกมากมาย ผมเชื่อว่า วันนี้เป็นยุคที่ดี ของการทำงานคู่กันทั้ง 3 ด้าน คือ รัฐมนตรีไม่มีปัญหากับสปสช. สปมช.ไม่มีปัญหากับข้าราชการประจำที่กระทรวงฯ และข้าราชการประจำก็รับฟังนโยบายของรัฐมนตรี ตอบสนองเป็นอย่างดี ซึ่งคณะกรรมการสปสช. ก็รับฟังนโยบายต่างๆ เห็นด้วย ผมในฐานะรัฐมนตรี ก็จะอาศัยความเป็นประธานบอร์ดฯ

ทำทุกอย่างให้ก้าวหน้าไปได้ และบริหารสถานการณ์ให้เกิดความราบรื่นมากที่สุด ด้วยวิธีขอความเห็น นำเสนอและรับฟัง ช่วยกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้ ในเร็วๆ นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสปสช. แต่ผมยืนยันว่า การทำงานจะไม่มีการหยุดชะงัก จะต้องต่อยอดไปเรื่อยๆ ตามเจตนารมณ์ของ นพ.สุรพงษ์ และกรรมการของสปสช. ทุกท่าน และประชาชนทุกคน” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวถึงหัวใจของโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ว่า สิ่งสำคัญของรัฐบาลคือ ต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ทุกเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้รับลูกโครงการนี้ ต่อไปเป็นอย่างดี ทำให้ปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่ 30 บาทรักษาทุกที่ แต่โรคมะเร็งก็รักษาได้ทุกที่เช่นกัน

ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากที่สุด ล่าสุดในปีนี้เราเพิ่มเครื่องฉายรังสี อีก 7 เครื่อง ส่งไปยังศูนย์มะเร็งต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยมะเร็งมากขึ้น ทำให้ประชาชนไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องรอคิวนาน ดังนั้น วันนี้ผลตอบรับคงไม่มีใครบอกว่า โครงการนี้ไม่ดี เพราะโครงการนี้ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการรักษาโรคมากขึ้น

เมื่อถามถึงการดำเนินงานในช่วงต่อไปของ สปสช. นายอนุทิน กล่าวว่า เวลาผ่านไปเพียงไม่ถึง 1 ปี ผลก็ปรากฏให้เห็นแล้วว่า ด้านการให้บริการประชาชนถือว่าครบถ้วนดีแล้ว แต่หลังจากนี้ สิ่งที่เราต้องพัฒนาต่อคือ เรื่องสถานที่ให้บริการประชาชน เช่นการพัฒนาที่จอดรถ ปรับปรุงระบบอาคาร ดูแลสิ่งแวดล้อมในหน่วยบริการ

เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงและสร้างความสบายใจให้กับคนทำงาน ให้กับประชาชนมากขึ้น เราต้องคิดทุกอย่างให้เป็นระบบให้หมด เราต้องรีบผลักดันให้เกิดผลสำเร็จให้ได้

“ต้องขอขอบคุณผู้เขียนหนังสือระหว่างบรรทัด ที่ได้บอกเล่าความเป็นมาของสปสช. และต้นกำเนิดของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ทำให้ปัจจุบันนี้เรามีระบบบริการสุขภาพพื้นฐาน ที่เอื้อประโยชน์กับประชาชนในประเทศอย่างมากที่สุด ถ้าให้พูดถึงประเทศไทย ผมก็คงมองว่าระบบสุขภาพของเราคืออันดับ 1 ของโลก และจะต้องดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก” นายอนุทินกล่าว

 

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: