มหากาพย์เกร็ดความรู้+รีวิวน้ำเค็ม ‘น้ำปลา’ 20กว่ายี่ห้อ





สวัสดีครับ ไม่เจอเสียนาน
คงต้องพูดแบบนี้จริงๆ เพราะหายหน้าหายตาไปนานพอสมควร จะวนเวียนก็แค่แวะมาตอบในคำถามที่น่าสนใจเท่านั้น 

ไม่อยากพร่ำเพร้อพรรณามาก เพราะรู้สึกจะติดค้างเรื่องน้ำปลาอยู่จากครั้งที่ทำเรื่องซีอิ๊ว ซึ่งตอนนั้นเองก็รู้สึกเรื่องในส่วนของน้ำปลามันค่อนข้างมีข้อมูลน้อย และออกจะเป็นข้อมูลซ้ำซ้อนเสียเยอะ เลยต้องใช้เวลาบ่มเพาะการนำเสนอพอสมควร ซึ่งก็มาลงตัวที่การพลีชีพในคราวนี้

เกริ่นนำกันไปหน่อยนะครับ

ว่ากันที่เริ่มแรก
น้ำปลาเป็นผลผลิตจาก…. จากปลาน่ะสิ!! ชื่อมันก็บอกโต้ง ๆ ว่าน้ำปลา แต่โคตรขำเลยครับที่น้ำปลามันไม่ได้ทำจากปลาก็ได้นี่หว่า แต่ใช้ชื่อน้ำปลา เอาเป็นว่า 90% มันก็ทำจากปลานั่นหละ 

แต่ถ้าจะให้ตีความจริงๆ น้ำปลา มันคือ ผลผลิตของการหมักเนื้อสัตว์อะไรก็ได้ กับ เกลือ จนได้ของเหลวรสเค็มออกมา ซึ่งของเหลวนั้นจะมีเกลือเป็นองค์ประกอบหลัก ดังนั้นจะให้รสเค็มนำ และ เค็มตาม ไอ้ที่แถมมาคือ กลิ่น รสชาติแฝง อีกหลายอย่าง แล้วแต่การหมัก ส่วนผสมเสริม 

และจะบอกว่า มันหมักคล้ายไวน์ก็ไม่ผิดหรอก ไม่งั้นลองไปดูที่ร้านค้าสิ ในร้าน ๆ นึงมันมีน้ำปลากี่ยี่ห้อล่ะ เท่าที่ผมเจอโดยเฉลี่ยอย่างต่ำก็2ยี่ห้อต่อร้านเข้าไปแล้ว ดังนั้น บอกได้เต็มาปากเลยครับว่าน้ำปลาแต่ละยี่ห้อ สีและกลิ่นไม่เหมือนกันเลย แม้แต่โรงงานเดียวกัน ก็ยังมีการคัดเกรด และนี่หละคือสิ่งที่ผมจะบอกว่ามันน่าสนใจยังไง
 

มาดูเรื่องประวัติของน้ำปลากันก่อน  

น้ำปลา ไมได้มีจุดเริ่มที่ประเทศไทย อย่าเข้าข้างตัวเอง ถึงแม้ว่าบ้านเราจะส่งออกน้ำปลาเป็นอับดับต้นๆของโลก (เผลอๆอันดับหนึ่ง แข่งกะเวียดนาม) แต่น้ำปลานั้น ดันมีต้นกำเนิด สมัยอาณาจักรโรมัน ตลกมากตรงที่ฝรั่งสมัยนี้มันบ่นว่าน้ำปลาเหม็น ทั้งๆที่มันมีต้นกำเนิดจากรากเขาเองนั่นหละ ก็คงเป็นเพราะการที่จะทำน้ำปลานั้น มันก็แค่เอาปลามาหมักกะเกลือจนเน่า แล้วไอ้กลิ่นปลาเน่ามันโชยไปสามบ้านแปดบ้านอยู่แล้ว ใครมันจนทนไหว
 

กลับมาเรื่อง น้ำปลาฝรั่ง ต่อ
น้ำปลาที่กล่าวนี้ มีชื่อ ว่า "การุม/การัม" กล่าวคือ หลังจากลากอวนขึ้นมาได้แล้วเนี่ย ไอ้ปลาที่ได้มามาก ก็จะนำมาหมัก กับเกลือ ซึ่งจะเรียกโดยรวมๆว่า ซาลซาเมนตัม Salsamentum (ซึ่งคำว่า Sal เป็นรากศัพท์ของคำว่า เกลือ/Salt) จะเรียกรวมไปถึงการปลาเค็ม ซึ่งในขั้นตอนการชำแหละปลา ก็จะได้เศษเหลือๆออกมา เช่น เครื่องใน เหงือก หาง ฯลฯ  แม้แต่ปลาเล็กๆเป็นผลพลอยได้ ซึ่งถ้าเป็นปลาเล็กก็มักเป็น ซาร์ดีน เป็นหลัก ไอ้พวกนี้หละที่เอามาทำเป็นซอส 

ในข้อมูลนั้นกล่าวถึงซอส4ประเภทคือ 
– การุม Garum /ปลาหมัก 
– ลิควาเมน Liquamen /น้ำปลา
– อัลเลก Allec /กากปลา
– มูเรีย Muria /น้ำปลาจากเศษปลาใหญ่จำพวกเครื่องในปลาทูน่า

ซึ่งความหมายทั้งหมดแทบสูญหายไปหมดแล้ว เหลือแต่เพียงข้อสันนิษฐานจากข้อมูลที่เหลือเท่านั้น
 

ซึ่งการทำทั้งหมดก็เหมือนน้ำปลานั่นหละและอาจมีการเติมเครื่องเทศ สมุนไพร หรือไวน์ แล้วแต่สูตรส่วนการุมชั้นต่ำมีกลิ่นแรงมากจนได้ชื่อว่า น้ำปลาปีศาจ evil-smelling fish sauce และในเมื่ออาณาจักรโรมันล่มสลายไป รวมไปถึงการที่มีการทำ การุมแบบคุณภาพต่ำออกมา การุมเลยค่อย ๆ หมดบทบาทในครัวตะวันตกจนแทบสูญพันธุ์ไปเลย แต่ก็ยังมีหลงเหลืออยู่ในลักษณะของ แองโชวี่(ปลากะตักเค็มแช่น้ำมัน)แทน รวมถึง วูสเตอร์ซอส ที่ใช้ปลากะตักเป็นวัตถุดิบหลัก และแตกออกมาเป็น ออกซี่การุมoxygarum(ผสมน้ำส้มสายชู) และ เมลิการุม meligarum(ผสมน้ำผึ้ง) ส่วนปลาที่ใช้หมักมีกระทั่ง ทูน่า แมคเคอเรล ปลาไหลมอเรย์ แองโชวี่ ในอังกฤษ เรียกว่า fishpickle ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบมาจาก วูสเตอร์ซอส เพราะใช้แองโชวี่หมักเหมือนกัน และจริงๆแล้วนั้นน้ำปลาสามารถใส่ได้ทั้งใน ซีซาร์สลัดแทนแองโชวี่ เป็นเครื่องปรุงในบุยยาเบส(สตูว์ทะเล)


และถ้าถามว่า ในปัจจุบัน การุม จะหาได้ที่ไหน 
เอาง่ายๆ "น้ำบูดู" น่ะ วิธีทำโคตรคล้ายเลย

 

วนมาในแถบบ้านเรามั่ง 

น้ำปลาในแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่เป็นที่นิยมที่สุดแล้วครับ แต่… คนไทยก็ไม่ใช้คนทำน้ำปลาเป็นชาติแรกอยู่ดี ต้นกำเนิด นั้นน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในจีน ซึ่งเป็นเครื่องปรุงที่พัฒนาจากการหมักปลากับเกลือเพื่อถนอมอาหาร เช่นเดียวกับการหมักถั่วเหลืองเพื่อทำซีอิ๊ว ซึ่งก็น่าจะเริ่มในแถบ เซียะเหมิน ฟูเจี้ยน เพราะมันใกล้ทะเล อีกอย่างที่ไม่แปลกใจที่มันจะเกิดในแถบนี้เพราะ น้ำปลานั้นเป็นวัฒนธรรมของคนจีนแต้จิ๋ว ซึ่งคนแต้จิ๋วนี่หละที่ล่องเรืออพยพมาทางตอนใต้ของจีน จนมาขึ้นฝั่งใน ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ ฯลฯ และรวมไปถึงชาว ฮกเกี้ยน หรือ ฮากกา(จีนแคะ) ก็ใช้น้ำปลาด้วย ซึ่งต้นกำเนิดนั้นน่าจะมาจากการประมงที่ได้ปลาเล็กจากการลากอวน เลยนำมาหมักกับเกลือในถังเพราะกินไม่หมดเลยได้ซอสนี้ขึ้นมา

 

การใช้นำปลานั้นใช้ทั้งในการผสมอาหารและทำน้ำจิ้มต่างๆ และใช้จิ้มได้หลากหลายมากทั้ง ปลา กุ้ง หมู ไก่ ส่วนทางจีนตอนใต้ใช้ปรุงน้ำแกง และจานอบ
น้ำปลาเป็นแหล่งกลูตาเมตที่ให้รสอูมามิมากเลยทีเดียว

ในเกาหลี 
เรียกว่า aek jeot(อ่านไม่ออกจริงๆ) ใช้มากในการทำกิมจิ มักทำจากปลาแองโชวี่myul chi หรือ kanari(sand lance)
มักหมักควบกับกิมจิหัวไชเท้า 
ส่วนคานาริ แพงกว่าแบบที่ผลิตจากแองโชวี่ และมักใช้แทนในการทำกิมจิกะหล่ำปลี
ส่วนกุ้งหมักSae woo jeot มักนิยมใช้เป็นเครื่องเคียงด้วย(คล้ายๆกุ้งจ่อม)

ญี่ปุ่น 
เรียกน้ำปลาว่า อิชิรุIshiru ทำจาก ปลาซาร์ดีน หรือหมึกกล้วย
โชทซึรุShottsuru จาก อาคิตะ ทำจาก sailfin sandfish 
อิคานาโกะ โชยุIkanago shoyu จาก คางาวะ ทำจาก sand lance 
รวมไปถึงปลาอายุ ก็มีทำน้ำปลาเช่นกัน

ฟิลิปินส์ 
ก็มี ปาติส และ บากุง(ปลาร้า) เหมือนกัน 

เวียดนาม 
ใช้น้ำปลามาก เรียกว่า เนื้อก-มาม เกรดดีๆจะใช้คำว่า nuoc mam nhi

ส่วนบ้านเรา
น้ำปลาแทบทั้งหมด ทำจาก ปลากะตัก เพราะหาง่ายและมีมากในแถบอ่าวไทย 
ซึ่งวิธีการทำเป็นแบบเดียวกับของจีน 
มีบ้างที่เป็นน้ำปลาจาก ปลาทู ปลาสร้อย
ซึ่งในอดีตเราเรียกน้ำปลาชนิดที่ทำจากกุ้งว่า น้ำเคย
จริงๆแล้วใช้ได้ทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา แม้กระทั่ง อึ่งอ่าง หรือ ลูกหมา ลูกควาย ก็มี

 

วิธีทำน้ำปลา 
เอาไปลองทำก็ได้ครับไม่ยากอะไรเลย เว้นแต่ข้างบ้านจะเกลียดเอาได้
-เอาปลามาเคล้าเกลือ
-เอาเกลือมารองก้นไห/โอ่ง แล้วเทปลาที่ผสมเกลือลงไปให้เกือบเต็ม
-ปิดไหให้สนิท ให้ดีก็เอาหินทับไปเลย ผนึกดีๆ แล้ววางตากแดด
-สัก 10วันขึ้นไป หรือทิ้งไว้จนปลาเปื่อยยุ่ยมีน้ำปลาออกมา ก็เอาตะแกรงกดลงไปให้น้ำปลาซึมออกมา เอาขันตักมาใช้ได้เลย
 

ซึ่งการทำน้ำปลาทำเอง อาจใช้ ปู หอย กุ้ง อะไรแทนก็ได้ทั้งนั้น และเติมลงไปได้เรื่อย ๆ ตามต้องการ
สิ่งที่ควรระวังที่สุด ก็ไม่พ้น เกลือไม่ถึงพอ ทำให้เน่า หรือพวกหนอนแมลงวันนั่นหละ
และแน่นอน กลิ่นรัญจวนทีเดียวหละ  
แนะนำให้ลองทำ กรณีเกลียดขี้หน้าคนข้างบ้าน
 

น้ำปลาตามโรงงานก็ใช้วธีแบบนี้ทั้งนั้นหละครับ ส่วนที่เหลือคือ เอามาต้ม หรือผสมน้ำตาลเคี่ยว(คาราเมล) 
และถ้าให้ดี ใส่ขวดใส ตากแดดจัดๆอีกสักอาทิตย์จะหอมใสขึ้นเลยทีเดียว

 

และจากที่ผมพลีชีพ นั่งชิมน้ำปลา 20กว่าขวด 
ผมเลยจำแนกชนิดของน้ำปลาคร่าวๆได้ดังนั้นครับ
 

Full-Body 
กลิ่นโคตรแรง คือไอ้แบบนี้ กลิ่นมาก่อนเลย กระชากใจมาก กลิ่นแรง คนว่าหอมก็หอม คนว่าเหม็นก็เหม็น พวกนี้ใช้ ผัด แกง จะดีมาก เพราะเน้นกลิ่น

 

All-Purpose 
เอนกประสงค์ คือกลิ่นไม่แรง รสไม่เค็มจัด ออกอมหวานด้วยซ้ำ ใช้จิ้มเหมาะสุด 

 

Light
กลิ่นบางๆชิลล์ๆเลยครับ
เหมาะกับใส่ในน้ำแกงใสๆครับ

 

Sauce 
ผ่าเหล่าผ่ากอ มาเป็นน้ำปลาที่แทบจะเป็นซีอิ๊วแล้ว พวกนี้จะเข้ม ทึบแสง กลิ่นไม่แรง อมหวาน 
เขาว่าแทนซีอิ๊วได้ก็ได้หละนะ เอาว่าใช้ได้เอนกประสงค์เหมือนกัน 
แต่ อย่าใส่แกงจืดนะครับ เผลอๆน้ำดำปึ๊ดไม่รู้ตัว

 

กลิ่น
ผมได้จำแนกออกมาเป็น
-ก้าง : กลิ่นคาวน้อย กลิ่นคล้ายก้างปลาทอด ออกหอมแบบควันๆ

-มัน  : คาวมากกว่า กลิ่นคล้ายๆพุงปลา หอมแบบชีส
 

มาถึง ช่วงเวลาทรมานครับ
เตรียม กระดาษ ดินสอ น้ำเปล่า ชามล้างช้อน น้ำปลา แล้วไปลองเสี่ยงตายกันดูเลย

D8979740-10

 

ขอรูปหมู่ก่อน 

รวมน้ำบูดูไปด้วย สรุปผมล่อน้ำปลาไป 24 ยี่ห้อ สองโหลพอดี 

ไตยังไม่วาย สบายดี

D8979740-11

 

ที่บอกว่า แบบ ซอส กับ แบบน้ำปลา คืออะไร 

นี่คือรูปที่น่าจะบอกได้นะครับ 

แบบซอส จะทึบแสง ส่วนแบบน้ำปลาปกติ จะใสกว่าอย่างชัดเจนมากๆ

D8979740-12

 

ดูสีเอาก็ได้ครับ

ชิมซะยี่ห้อละช้อนประมาณนี้ ทั้งดม ทั้งสูดเข้าปาก 
โอย….เล่นเอา หมูกระเทียมร้านข้างบ้านจืดไปเลย

D8979740-13

 

แบบซอส สีจะดำแทบเป็น แมกกี้แล้ว

D8979740-14

 

ส่วนนี้เป็นน้ำปลาญี่ปุ่นที่ทำจาก ปลาอายุ ครับ 
มีกากปลาเหลืออยู่ด้วย

D8979740-16

 

และ นี่คือ บูดู ครับ 
ยิ่งกว่าน้ำปลาดิบอีก ข้นคลั่กกกกก 
คือมาทั้งกากทั้งก้างเลย

D8979740-17

 

ส่วนน้ำปลาบางยี่ห้อจะมีแยกเกรด นะครับ 
ซึ่งการแบ่งเกรดนั้น มักเป็นการแบ่ง ตามระยะเวลาในการหมัก คือยิ่งนานยิ่งดี ยิ่งหอมนั่นหละ

D8979740-12

 

ทิพรส (ปกติ) 

Light
ปลา 76 เกลือ 23 น่ำตาล 1 

เป็นยี่ห้อที่มีอัตราส่วนของปลาค่อนข้างมาก
แต่กลับมีรสเค็มนำ และเค็มติดลิ้นเลยหละ 
มีรสหวานปน 
กลิ่นคาวน้อย และมีกลิ่นแบบก้างปลาค่อนข้างชัด

D8979740-19

 

ทิพรส (ทอง) 

All-Purpose 
ปลา 76 เกลือ 23 น่ำตาล 1 

รสเค็มน้อยลง มีรสหวานเจือมากขึ้น
กลิ่นเริ่มพัฒนาไปทางกลิ่นมันๆ แต่ยังไม่ชัดมาก ยังมีกลิ่นแบบก้างอยู่

D8979740-20

 

หอยนางรม (ชั้น1)

All-Purpose 
ปลา 68 เกลือ 30.5 น่ำตาล 4.5

เป็นยี่ห้อที่อัตราส่วนของเกลือค่อนข้างสูงมาก

เค็มมาก เค็มนำ 
กลิ่นหอมแบบก้าง และกลิ่นค่อนข้างแรง

D8979740-23

 

หอยนางรม (ทอง)

Full-Body 
ปลา 68 เกลือ 30.5 น่ำตาล 4.5

เค็มน้อยลงจนน่าตกใจ
กลิ่นหอมแบบก้างยังเป็นเอกลักษณ์ 

ถ้าชอบกลิ่นแนวนี้แนะนำยี่ห้อนี้เกรดนี้ครับ

D8979740-24

 

ปลาหมึก 

Full-Body 
ปลา 60 เกลือ 37 น่ำตาล 3

เป็นยี่ห้อในท้องตลาดที่มีอัตราส่วนของเกลือมากที่สุด

จะเค็มไปไหน 
กลิ่นมันๆ ค่อนข้างแรงมาก และคาวจัดพอสมควร 

ดังนั้น เหมาะกับผัดที่สุดครับ

D8979740-25

 

คนแบกกุ้ง

Full-Body 
ปลา 66 เกลือ 29 น้ำตาล 5

รสเค็มกลางๆ 
กลิ่นมัน กลิ่นแรงและค่อนข้างคาว

D8979740-28

 

หอยหลอด

Light
ปลา 74 เกลือ 24 น้ำตาล 2

เค็มนำ 
กลิ่นก้าง กลิ่นบางมากครับ 
เหมาะกับทำน้ำแกงใสๆ

D8979740-29

 

แม่ครัว

Sauce
ปลา 70 เกลือ 29 น่ำตาล 1

กลิ่นหอมก้างชัดเจน 
มีรสหวานตาม กระเดียดไปทางกลิ่นคาราเมล

D8979740-30

 

ตราชั่ง (ทอง)

All-Purpose
ปลา 70 เกลือ 29 น้ำตาล 1

เค็มกลางๆ มีรสหวานปลายๆ 
กลิ่นมัน ถือว่าค่อนข้างละมุน
ยี่ห้อนี้แนะนำสำหรับจิ้มครับ

D8979740-31

 

หอยเป๋าฮื้อ 
All-Purpose 
ปลา 72 เกลือ 25 น่ำตาล 3
เป็นหัวน้ำปลาครับ 
เค็มน้อย มีรสหวานเจือ 
กลิ่นหอม กลิ่นมันมาก โดยรวมกลิ่นนวลเลยหละ 
**ยี่ห้อนี้ แนะนำครับ

D8979740-32

 

พรพิมล
All-Purpose
ปลา 73 เกลือ 24 น้ำตาล 3
รสเค็มน้อย 
กลิ่นมัน หอมกลิ่นคาวน้อย 
กระเดียดไปทางLightครับ ปรุงแกงจืดได้เลย

D8979740-33

 

เมก้าเชฟ
Sauce
ปลา 70 เกลือ 27 น้ำตาล 2 ฟรุคโตส 1 
เป็นยี่ห้อเดียวที่ใส่น้ำตาลฟรุคโตสลงไปด้วย
รสค่อนข้างหวานมากถ้าเทียบกับยี่ห้ออื่น
กลิ่นก้าง หอมพอสมควร

D8979740-34

 

เสม็ด
Light
ปลา 66 เกลือ 30 น้ำตาล 5
เค็มกลาง 
กลิ่นก้าง มีกลิ่นมันเจือเล็กน้อย

D8979740-35

 

ยอด
Full-Body 
ปลา 71 เกลือ 28 น้ำตาล 1
หัวน้ำปลา
เค็มไม่มาก
กลิ่นมัน และค่อนข้างคาว

D8979740-36

 

อันดามัน
Light 
ปลา 71 เกลือ 24 น้ำตาล 4.9
เค็มนำมาก่อนเลย 
กลิ่นก้าง และคาวพอสมควร

D8979740-37

 

น้ำปลาแท้ (ซื้อที่งานโครงการหลวง)
Full-Body 
ปลา 70 เกลือ 30
หัวน้ำปลา
เค็มกลางๆ
กลิ่นมัน หอมแรงดี เพราะตอนเปิดขวดกลิ่นมาก่อนเลย
ใช้ดีครับถ้าเจอก็ควรซื้อไว้

D8979740-39

 

หอยกระปุก
Full-Body 
ปลา 75 เกลือ 24 น้ำตาล 1
เค็มกลางๆ
หอมดี กลิ่นก้าง
หาซื้อได้จากแผงข้างทางเวลาขับรถจากเส้นสมุทรสงครามมากรุงเทพฯ

D8979740-40

 

จุฑาทิพย์
Sauce
ปลา 73 เกลือ 24 น้ำตาล 3
ทำจากปลาทูน่า 
เค็มกลางๆ
กลิ่นก้าง หอมไหม้แบบคาราเมล 
สีเข้มมากครับ

D8979740-41

 

แม่อนงค์
All-Purpose 
ปลา 70 เกลือ 29 น้ำตาล 1
ทำจากปลาสร้อย
เค็มมากกกกกก
กลิ่นก้าง แต่กลิ่นไม่คาวเลย มีกลิ่นไหม้แบบคาราเมล
ข้อดีคือไม่คาวแบบน้ำปลาที่หมักจากปลาทะเล

D8979740-42

 

ชวนชื่น
All-Purpose 
ปลา 65 เกลือ 27 น้ำตาล 7.9
ทำจากปลาทู
เค็มไม่จัดมาก
กลิ่นมันมาก กลิ่นหอมดี ไม่มีกลิ่นคาวแรงแบบน้ำปลาปลากะตัก
หาซื้อได้จากแผงข้างทางเวลาขับรถจากเส้นสมุทรสงครามมากรุงเทพฯ

D8979740-43

 

สร้อยทอง
Light
หางน้ำปลา 
ยังกะน้ำเกลือผสมชูรส ไม่หอม แถมติดขม
พอปรุงรสเค็มได้ แต่ไม่แนะนำในการทำอาหาร

D8979740-44

 

Good life 
All-Purpose 
น้ำปลาจากเกลือโพแทสเซียม
เค็มนำ คล้ายน้ำเกลือ 
กลิ่นก้างจางๆมากๆ 
รสติดขม
**น้ำปลาโพแทสเซียม ไม่ใช่น้ำปลาสุขภาพ
การที่ โซเดียมต่ำ นั้นเพื่อสำหรับผู้ป่วยความดันเท่านั้น

***ไม่ได้ทำให้ไตทำงานเบาลง กลับทำให้ไตทำงานหนักขึ้น
เพราะโพแทสเซียมขจัดออกได้ทางไตอย่างเดียวเท่านั้น 
แถมถ้าบริโภคมาก อาจเป็นอัมพาตได้

D8979740-46

 

มารุฮาระ 
Ayu-Gyosyo
Full-Body 
ปลา 75 เกลือ21 
น้ำปลาญี่ปุ่นทำจากปลาอายุ(ตระกูลเดียวกับปลาเทร้าต์)
เค็มกลางๆ  มีติดเจือหวานปลายลิ้น
แต่ กลิ่นมันมากกกกก หอมมากกกกกกกกกก ลุ่มลึกมาก 
มีกากปลาอยู่ก้นขวด
ราคาสูงมากขวดละ300กว่าๆ 
ซื้อได้ที่อิเซตันช่วงเทศกาลอาหาร(ถ้ายังมีนะ)

D8979740-47

 

บูดู ข้น
ดิบ ดิบมาก ดิบมากที่สุด
เค็มไม่มาก 
แต่
กลิ่นหอมมันมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก
และ
คาวมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก
กากปลาลอยฟ้อง ก้างปลาติดลิ้น
ควรเอาไปต้มและปรุงก่อนกิน
ยังกะกินปลาดิบๆ

D8979740-48

หมดแล้วครับสำหรับการรีวิวน้ำเค็มทั้งหมดนี้
หวังว่าจะพอเป็นความรู้คู่ครัวสำหรับทุกคนนะครับ
 wink


ขอบคุณข้อมูลจาก
สมาชิก SchwedaKong กระทู้ 
:::::ห้องเรียนน้าบัง:::::เรื่องของน้ำปลา:::::
เว็บไซต์ http://topicstock.pantip.com/food/topicstock/2010/03/D8979740/D8979740.html

เรียบเรียงข้อมูลโดย
ThaiJobsGov

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: