‘ซองผ้าป่า’ ทำอย่างไรไม่ให้เสียน้ำใจกัน?





ใกล้เทศกาลงานบุญทีไร ชาวออฟฟิศต้องมีเรื่องให้หนักใจทุกที บุญน่ะอยากได้ แต่บางครั้งมาพร้อมกันซะหลายซองจนต้องกินเนื้อตัวเองก็ไม่อยากทำ ถ้าเลือกทำก็ต้องเป็นอันลำบากใจอีก

 

1429590006-1423194291-o

ว่ากันว่าการทำบุญที่ได้บุญจริง ๆ คือ ทำด้วยความสบายใจ’ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้โกหกเพื่อความสบายใจมันก็เป็นเรื่องผิดศีลอยู่ดี หรือบีบบังคับให้ทำยอดเหมือนธุรกิจมันก็ไม่ได้บุญอีกเช่นกัน Thaijobsgovมีวิธีประนีประนอมแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่นมาฝากกัน

 

ในมุมของพนักงานทั่วไป/ลูกน้อง

1. ใส่ในจำนวนเงินเท่าที่จะสบายใจ

เป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างมากว่า ยิ่งใส่เยอะให้คนอื่นรู้ ยิ่งได้หน้า ยิ่งได้บุญ เพราะความจริงแล้ว บุญที่ทำด้วยความเต็มใจอย่างแท้จริง แม้เพียงบาทเดียว สลึงเดียว มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับบุญแบงค์พันหรอก

 

การทำบุญที่ถูกต้องก็คือ ควรทำในจำนวนที่สบายใจ จะแบงค์ยี่สิบ แบงค์ห้าสิบ หรือเศษเหรียญก็ได้ทั้งนั้น หากคนรับซองถามว่า ทำไมใส่แค่นี้ล่ะ?’ ก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกนอยด์หรืออับอาย เพราะมันคือความเต็มใจของเรา เราหมดหน้าที่แล้ว หากผู้รับเดือดร้อนเสียเอง นั่นก็แปลว่า ผู้รับคาดหวังจำนวนเงินแต่แรก เขานั่นแหละที่จะไม่ได้บุญ เพราะทำบุญดันไปหวังผลเองนี่

 

2. เลือกซองที่สบายใจ

ไม่จำเป็นต้องใจป้ำรับหมดทุกซอง เรามีสิทธิเลือกได้ว่าจะจำกัดโควตากี่ซองแล้วไม่รับอีก อย่าลืมว่าเราก็ต้องกินต้องใช้ทุกวัน ถ้ามันรวมกันเป็นหลายซองเป็นเงินจำนวนมากที่เริ่มจะเบียดเบียนตัวเอง ควรหยุดและไม่รู้สึกผิดที่จะปฏิเสธซองต่อไป
***ควรพูดปฏิเสธตามตรงและนิ่มนวลที่สุด เช่น “หนูเพิ่งทำบุญไป 3 วัดแล้วค่ะ ขอโทษด้วยนะคะ ตอนนี้เงินเริ่มไม่พอแล้ว โอกาสหน้าแล้วกันนะคะพี่ ขอบคุณมากนะคะที่นึกถึงกัน”

 

ในมุมของหัวหน้าแผนก/ผู้จัดการ/ผู้บริหาร

1. ตั้งโต๊ะสาธารณะ

จะตั้งเป็นต้นผ้าป่า, ตั้งเป็นปึกซอง, หรือเป็นกล่องรับบริจาคก็ได้ มันก็โดดเด่น ชัดเจนพอให้เห็นแล้วว่า นี่คือจุดทำบุญ หากใครสนใจจะร่วมบุญเชิญได้’ อย่างน้อยก็เป็นการถนอมน้ำใจกันดี ไม่มีลักษณะในทางบีบบังคับหรือทำให้อับอายแต่อย่างไร แฟร์ ๆ กันออกนะ

 

2. รับมาซองเดียวแล้วเดินเร่ไปตามโต๊ะ

การรับมาซองเดียวนอกจากจะเป็นการประหยัดทรัพยากร(ไม่เปลืองกระดาษ) ยังทำให้ดูเหมือนว่าซองนี้ทั้งซองมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันดี แต่อย่างไรก็ตาม ระวังคำพูดและสีหน้าท่าทางการแสดงออกด้วยว่าจะไปทำให้ใครไม่สบายใจหรือรู้สึกว่ากำลังถูกเบียดเบียนรึเปล่า ท่องไว้ในใจเสมอ ‘บุญควรได้รับจากความเต็มใจและบริสุทธิ์ใจที่สุด’ ไม่ควรมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจกัน ไม่ควรกระทบกระเทียบโดยนึกถึงยอดเงินเป็นใหญ่

 

3. ถ้าจำเป็นต้องแจกซองแบบประชิดโต๊ะทำงานส่วนตัว ควรมีการขยายความนิดนึง

หลายองค์กรมักจะมีมุกที่ว่า ส่งซองไปถึงโต๊ะทำงาน’ แน่นอนว่าพนักงานแต่ละคนเห็นบุญมาประชิดโต๊ะขนาดนี้ ส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าปฏิเสธ เพราะรู้สึกเกรงกลัวบาป(ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ทำผิดอะไรเลย)

 

ทางที่ดีควรมีประกาศหรือโน้ตแนบไปด้วยว่า แล้วแต่จิตศรัทธา หากไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร โอกาสหน้าค่อยว่ากันใหม่’ เพื่อให้พนักงานรู้สึกสบายใจ ไม่รู้สึกว่ากำลังถูกบีบบังคับให้ทำบุญ(ทั้งที่เริ่มจะเข้าเนื้อไปทุกทีแล้ว) การปล่อยให้บุญเป็นเรื่องคลุมเครือ ไม่ชัดเจน อาจทำให้บุญไม่บริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะไม่ได้บุญเต็มที่

 

 ท่องเอาไว้ให้ขึ้นใจ ‘บุญไม่ได้ขึ้นกับจำนวน หากแต่ขึ้นกับความเต็มใจและใจอันบริสุทธิ์’ ตราบใดที่บุญต้องแลกมาด้วยความเดือดร้อนของคนอื่นเป็นเบื้องหลัง หรือแม้กระทั่งความทุกข์ใจของเราเอง สมควรแล้วที่จะต้องมาทบทวนความหมายของการทำบุญกันเสียใหม่ 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: