กทม.เตรียมเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว158บาทตลอดสาย หลังเจรจาราคา65บาท ไม่ลงตัว





กรุงเทพมหานครเตรียมเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพดานสูงสุดอยู่ที่ราคา 158 บาท หลังเจรจาที่ราคา 65 บาทตลอดสายไม่ได้ข้อสรุป ชี้โดนพิษโควิด-19 เล่นงานทำให้ผู้โดยสารลดต่อเนื่อง ด้านบีทีเอสแจงหนี้การเดินรถพุ่งกว่า 9,000 ล้านบาท

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่เปิดให้บริการฟรีในช่วงที่ผ่านมานั้น โดยปัจจุบัน กทม.อยู่ระหว่างพิจารณาศึกษาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เบื้องต้นประเมินว่าจะมีเพดานราคาสูงสุดอยู่ที่ 158 บาท  โดยในวันที่ 16 ม.ค.นี้  กทม.จะมีการประกาศอัตราค่าโดยสารของส่วนต่อขยาย รวมทั้งค่าโดยสารสายหลักทั้งสายสุขุมวิทและสีลม  โดยจะเปิดให้บริการนั่งฟรีถึงวันที่ 15 ก.พ.2564   แต่ด้านกฎหมายกำหนดให้ผู้ให้บริการเดินรถต้องประกาศค่าโดยสารให้ผู้โดยสารทราบและเตรียมตัวก่อน 30 วัน  หลังจากนั้นจะเริ่มจ่ายค่าโดยสารในวันที่ 16 ก.พ.2564

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังกล่าวอีกว่า เหตุผลที่มีความจำเป็นต้องจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราที่สูง เพดานราคา 158 บาท  เพราะปัจจุบันการเจรจากำหนดอัตราค่าโดยสารที่ 65 บาทตลอดสาย ยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะเดียวกัน กทม.มีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับเอกชนผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายดังกล่าว ซึ่งเป็นภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยืนยันว่าเพดานราคา 158 บาท แม้จะเป็นราคาที่สูง แต่เมื่อคำนวณต้นทุนทั้งหมดแล้วแล้วพบว่ากทม.ยังขาดทุน

สำหรับการศึกษาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม ที่ประเมินว่าจะมีเพดานราคาสูงสุดอยู่ที่ 158 บาท เป็นการคำนวณมาจากอัตราค่าโดยสารสายสีเขียวหลักที่เก็บสูงสุด 44 บาท และมีการจัดเก็บเพิ่มเติมในเส้นทางส่วนต่อขยาย โดยอัตราค่าโดยสารที่กรุงเทพมหานครจะประกาศครั้งนี้ เป็นการกำหนดอัตราราคาเพิ่มเติมในช่วงส่วนต่อขยายสายใหม่ ทั้งสายเหนือหมอชิต-สะพานใหม่–คูคต และสายใต้ ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เผยว่า  ปัจจุบันบีทีเอสยังไม่ได้รับแจ้งจากทางกทม.อย่างเป็นทางการถึงรายละเอียดการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสาย คาดว่าจะได้รับแจ้งข้อมูลจากทางกรุงเทพมหานครและประกาศให้ประชาชนรับทราบภายใน 16 ม.ค.นี้ซึ่งหากมีการประกาศก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงสามารถจัดเก็บค่าโดยสารได้  ดังนั้นต้นทุนการเดินทางก็จะยังเพิ่มขึ้นอยู่ ปัจจุบันค่าจ้างเดินรถที่บีทีเอสต้องจัดเก็บจากทางกทม.มีอยู่กว่า 9 พันล้านบาทแล้ว โดยบีทีเอสต้องแจ้งอัพเดตตัวอย่างอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นต้นทุนที่เราก็ต้องแบกรับ

ข่าวจาก workpointtoday

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: