“กรมปศุสัตว์” เปิดให้ยืมเครื่องจักรกลการเกษตร เกษตรกรออกค่าใช้จ่ายอื่นๆเอง





“​​​​​​กรมปศุสัตว์” เปิดบริการ “ยืมเครื่องจักรกลการเกษตร” ตั้งแต่เดือนธ.ค.63-เม.ย.64 แต่เกษตรกรต้องออกค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมัน ค่าแรงงาน เมื่อครบกำหนดแล้วจะต้องคืนเครื่องจักรที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หวังช่วยลดค่าใช้จ่าย

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดภัยแล้งและอุทกภัยหลายๆพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้ปศุสัตว์ เช่น โคเนื้อ โคนม กระบือ แพะ-แกะ ได้รับผลกระทบในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 3 ล้านตัว และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น กรมปศุสัตว์ซึ่งมีภารกิจให้การช่วยเหลือ สนับสนุน เสบียงสัตว์ พันธุ์สัตว์ การป้องกันโรค และการรักษาสัตว์  ทั้งนี้ เพื่อให้การบริการอย่างทั่วถึงจำเป็นต้องมีบุคลากร ที่มีความรู้ความสามารถ เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสำรองเสบียงสัตว์นั้น จำเป็นต้องมีเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ในการปฏิบัติงานในภารกิจต่างๆ เช่น การจัดการแปลงพืชอาหารสัตว์ การสำรองเสบียงสัตว์ อาทิ หญ้าแห้ง หญ้าหมัก และฟางอัดฟ่อน ตลอดจนการเก็บสำรองเสบียงสัตว์เพื่อความมั่นคงด้านอาหารสัตว์ รวมทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ เป็นต้น

ในปีงบประมาณ 2564 กรมปศุสัตว์มีเป้าหมายการพัฒนาศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรด้านปศุสัตว์ (Motor Pool) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรในการจัดการแปลงพืชอาหารสัตว์และการสำรองเสบียงสัตว์ โดยนำร่องในศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ 7 แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์บุรีรัมย์  ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ร้อยเอ็ด ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ลำปาง ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์แพร่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เพชรบูรณ์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สุพรรณบุรี โดยศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรด้านปศุสัตว์จะให้บริการเครื่องตัดหญ้า เครื่องอัดหญ้าแห้ง เครื่องเกลี่ยหญ้า และเครื่องสะบัดผึ่งหญ้าแก่กลุ่มเกษตรกร โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมปศุสัตว์กำหนด เช่น มีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าแรงงาน และค่าวัสดุการเกษตร ตลอดจนเกษตรกรต้องดูแลรักษา และส่งคืนเครื่องจักรกลในสภาพพร้อมใช้งาน

“ทั้งนี้ ในการจัดการแปลงพืชอาหารสัตว์ และสำรองเสบียงสัตว์ สามารถทดแทนแรงงาน ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ และเวลา นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ภัยแล้ง และอุทกภัย ตลอดจนทดแทนแรงงานภาคเกษตรที่ลดลง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกด้วยหากเกษตรกรรายใดสนใจจะขอรับบริการจากศูนย์บริการอาหารสัตว์ สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ หรือ http://nutrition.dld.go.th/nutrition/ หากเกษตรกรสนใจ ติดต่อได้ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้ให้ไวตามโปสเตอร์ ” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

ข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: