นักจิตวิทยาเด็ก แนะใช้ “บอร์ดเกม” แก้ปัญหาโรคซึมเศร้าในวัยเรียน





ปัจจุบันมีเด็กในช่วงอายุ 12-17 ปี ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในวัยเรียนมากถึงกว่า 10% ของจำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าในปัจจุบัน ทำให้จิตแพทย์เด็กแนะนำการสร้างสื่อการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กได้เข้าใจสาเหตุและวิธีการรับมือกับโรคนี้ทั้งกับตัวเองและคนใกล้ชิด ผ่านกิจกรรมบอร์ดเกม ซึ่งขณะนี้ได้ทดลองนำมาใช้กับกลุ่มเด็กในช่วงวัยดังกล่าวแล้วและได้ผลเป็นอย่างดี

โดยการ์ดเหตุการณ์จากเกม depresso สุขไม่เศร้า ถูกเปิดขึ้นเพื่อให้ผู้เล่นได้ตอบคำถามและแบ่งปันความคิดเห็นในมุมมองต่อสถานการณ์ร่วมกัน ก่อนที่ผู้เล่นที่รับบทบาทสมมติในเกมนั้นจะเลือกผู้เล่นที่ให้เหตุผลและความเข้าใจที่ตรงกับความรู้สึกของเธอหากเธอเป็นตัวละครนั้น ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกก็จะได้คะแนนพิเศษไปสะสมไว้

วิธีการข้างต้นเป็นเพียง 1 ในวิธีการเล่นเกม Depresso รูปแบบหนึ่งที่น้องๆ จากทีม SRP ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นขึ้น ผ่านมุมมองของพวกเขา และออกแบบบอร์ดเกมขึ้นมา ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ จำลองมาจากสถานการณ์ที่มักเกิดขึ้นในสถานศึกษา ผ่านการ์ดเกม เพื่อให้ผู้เล่นได้เข้าใจ และเรียนรู้ลักษณะอาการ รวมทั้งวิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นต่อผู้เป็นโรคซึมเศร้า

ขณะที่บอร์ดเกมนี้เป็น 1 ในบอร์ดเกมจากโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคมรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นการพัฒนาตัวเกมต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ครั้งนี้จึงมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านเข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยประเด็นที่สำคัญจากมุมมองของจิตแพทย์เด็ก ที่ระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเฉลี่ยมากถึง 10% หรือ ในเด็กทุกๆ 10 คน อาจพบเด็กที่มีอาการ 1-2 คน การพัฒนาสื่อการเรียนรู้จึงสำคัญต่อการทำความเข้าใจให้กับเด็กได้

ทักษะการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking จึงเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบเครื่องมือในเกม ที่ทางคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้อบรมน้องๆ ทั้ง 14 ทีม โดยจุดประสงค์คือการให้เยาวชนสามารถนำหลักการต่างๆ ไปใช้ออกแบบกลไกทางสังคมต่างๆ นอกเหนือจากการสร้างบอร์ดเกม ในมุมมองของนวัตกรที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมได้ในอนาคต

นอกจากน้องๆ กลุ่มนี้ เพื่อนๆ อีก 14 ทีมในโครงการก็ต้องดำเนินงานในลักษณะเดียวกัน เพื่อนำมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมสังเกตการณ์กับแต่ละกลุ่ม ไปใช้ปรับปรุง ซึ่งคาดว่าจะได้ตัวเกมที่สมบูรณ์แบบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 นี้

ข่าวจาก เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: