เปิดบทลงโทษนักเรียน “ไม่ใส่เครื่องแบบนักเรียน” ตามระเบียบ ไม่มีสิทธิ์ห้ามเข้าเรียน





ตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ในมาตราที่ 4 ได้กำหนดความหมายว่า “นักเรียน” คือผู้ซึ่งศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ซึ่งศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ อันรวมถึงนักเรียนในสถานศึกษาของเอกชนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา) ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ด้วย

และ “เครื่องแบบนักเรียน” หมายความว่า เครื่องแต่งกาย สิ่งประกอบเครื่องแต่งกาย และเครื่องหมายต่างๆ ที่กำหนดให้นักเรียนแต่งตามพระราชบัญญัตินี้

ในมาตราที่ 5 ตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน ได้ระบุไว้ว่า “ให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบนักเรียน” โดยลักษณะของเครื่องแบบนักเรียน วิธีการแต่ง เงื่อนไขในการแต่ง และการยกเว้นไม่ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียน ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

นักเรียนผู้ใดไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียน โดยไม่ได้รับยกเว้นตามวรรคสอง อาจได้รับโทษทางวินัย ตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548

ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียนพุทธศักราช ๒๔๘๒ ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการจึงไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันสมควรปรับปรุง โดยกําหนดให้มีเครื่องแบบนักเรียนไว้เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อประโยชน์ในการประหยัด และความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสร้างวินัยให้แก่นักเรียน รวมทั้งเป็นการคุ้มครอง เพื่อมิให้บุคคลอื่น แต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่สิทธิที่จะแต่ง จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ในข้อที่ 4 ได้กำหนดความหมายว่า “กระทําความผิด” หมายความว่า การที่นักเรียนหรือนักศึกษาประพฤติฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับของสถานศึกษา หรือของกระทรวงศึกษาธิการ หรือกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา และ “การลงโทษ” หมายความว่า การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทําความผิด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน

ข้อที่ 5 โทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด มี 4 สถาน ดังนี้ 1. ว่ากล่าวตักเตือน 2. ทำทัณฑ์บน 3. ตัดคะแนนความประพฤติ 4. ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

และในข้อ 6 ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธหรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย

การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิดและกลับมาประพฤติตนตนในทางที่ดีต่อไป ให้ผู้บริหารโรงเรียน หรือผู้ที่ผู้บริหารโรงเรียนมอบหมาย เป็นผู้มีอำนาจในการลงโทษ นักเรียนนักศึกษา

ทั้งนี้หากจะมีการลงโทษในรูปแบบอื่น ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวว่าหากครูเห็นว่าการไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียนเป็นการฝ่าฝืนระเบียบก็ลงโทษนักเรียนได้เพียง 4 สถานนี้เท่านั้น ไม่อาจกระทำการอย่างอื่น เช่น ห้ามเข้าเรียน ยึดหรือตรวจค้นทรัพย์สิน ตีหรือทำร้ายร่างกาย ซึ่งหากกระทำเช่นนั้น ย่อมถือว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและอาจมีความรับผิดตามมาได้

อย่างไรก็ตาม ข้อท้าทายสำหรับกระทรวงศึกษาฯ และครู คือ การรณรงค์แต่งชุดไปรเวทในวันเปิดภาคเรียนที่จะเกิดขึ้นนี้เป็น “การกระทำความผิด” จริงหรือไม่ จำเป็นต้องมี “การลงโทษ” หรือไม่ ในเมื่อการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นไปเพื่อการตั้งคำถามถึงเป้าหมายของการจัดการศึกษา และเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล ซึ่งรวมถึงของนักเรียน มิใช่เป็นการประพฤติชั่วซึ่งต้องสั่งสอนให้สำนึกรู้ในความผิดแต่อย่างใด

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์, พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียนพ.ศ. ๒๕๕๑
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: