ด่วน! ธนาคารกรุงไทยแจ้งตลาดหลักทรัพย์ พนักงานทั้งหมดพ้นสถานะ “รัฐวิสาหกิจ”





ด่วน! “ธนาคารกรุงไทย” แจ้งตลาดฯ “บอร์ด-ผู้บริหาร-พนักงาน” ทั้งหมดพ้นสถานะ “รัฐวิสาหกิจ” ผลจากความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (9 พ.ย. 63) ธนากรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ส่งหนังสือลงวันที่ 6 พฤศจิกายนชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เรื่อง แจ้งความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อสถานภาพของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีเนื้อหาดังนี้

ธนาคารกรุงไทยขอแจ้งให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ธนาคารได้รับหนังสือจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งแจ้งให้ธนาคารทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือตอบข้อหารือของกองทุนฯ ที่ขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนฯ และธนาคารกรุงไทย

โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งผลการพิจารณาว่า ธนาคารกรุงไทย ไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็น รัฐวิสาหกิจ ตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561

การเปลี่ยนสถานภาพของธนาคารตามความเห็นข้างต้นอาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารและต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจหลายฉบับ ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงผลกระทบในด้านต่างๆ หากได้ความชัดเจนแล้ว ธนาคารจะได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบในโอกาสต่อไป

อย่างไรก็ตาม ธนาคาร ได้ศึกษาผลความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นด้านคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารจะได้ข้อยุติว่า โดยผลของความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบกับการมีผลบังคับใช้พระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ส่งผลทำให้กรรมการ ผู้บริหารสูงสุด ตลอดจนพนักงานของธนาคาร ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 สำหรับผลกระทบด้านกฎหมายฉบับอื่นๆ ธนาคารจะเรียนแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไปเช่นกัน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถือ

นายผยง ศรีวณิช

กรรมการผู้จัดการใหญ่

เลขานุการบริษัท

เปิดคำวินิจฉัย “ธนาคารกรุงไทย” พ้น รัฐวิสาหกิจ

การวินิจฉัยล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อเดือนตุลาคม 2563 เกิดหลังจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินขอให้วินิฉัยว่า กองทุนฯ มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ รวมทั้งสถานภาพของ ธนาคารกรุงไทย เนื่องจากคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” มีการนิยามในกฎหมายหลายฉบับและมีความแตกต่างกัน

ก่อนหน้านี้ สำนักงานกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยแล้วในปี 2543 ว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทย มีสถานะเป็น “รัฐวิสาหกิจ” แต่ต่อมามีการปรับปรุง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2561 และมีการใช้ พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ 2561 และมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในบทนิยม “รัฐวิสาหกิจ”

ตามมาตรา 4 จาก “องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ” เป็น “องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐ ซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ”

กองทุนฯ จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยใน 3 ประเด็น ดังนี้

  • กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และธนาคารกรุงไทย ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ถือหุ้นมากกว่า 50% มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่
  • กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทย อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 หรือไม่ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่ากรรมการกองทุน ไม่ถือเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
  • หากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ หรือธนาคารกรุงไทย ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้กระทรวงการคลังใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยได้หรือไม่ ตามที่กระทรวงการคลังร้องขอและกระทรวงการคลังจะกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยได้หรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นสรุปได้ดังนี้

  1. กองทุนฯ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามคำนิยาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2561 กำหนดให้ ธปท. เป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น เนื่องจากกองทุนฯ เป็นหน่วยงานใน ธปท.
  2. นอกจากนี้ กองทุนฯ ไม่ได้เป็น “หน่วยงานรัฐ” ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เนื่องจากไม่ได้รับเงินงบประมาณ หรือ รายจ่ายอุดหนุนจากงบประมาณ เนื่องจากได้รับเงินจากอำนาจหน้าที่ของกองทุนฯ เองและได้รับการจัดสรรจาก ธปท.
  3. ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากกองทุนฯ ถือหุ้น 55.07% 
  4. สำหรับประเด็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น กฤษฎีกาไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ เพราะเห็นว่าต้องปฏิบัติตามประกาศของ ป.ป.ช. อยู่แล้ว 
  5. ประเด็นเรื่องการมองฉันทะ หรือ มอบอำนาจให้กระทรวงการคลังได้หรือไม่นั้น สามารถดำเนินการได้ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.มหาชนจำกัด 2535 และการกำกับดูแลนั้นต้องทำผ่านกลไกคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

ข่าวจาก thebangkokinsight

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: