กอร.ฉ.รับเอกสารจริงจ่อแบนเพจสำนักข่าว แต่ยังไม่สั่งปิด





กอร.ฉ.ยันคำสั่งที่ 4/2563 เป็นเอกสารจริง หลังได้รับรายงานว่า สื่อออนไลน์เสนอข่าวที่อาจมีความสับสนหรือปลุกปั่น จึงเสนอ กสทช.และดีอี ระงับการออกอากาศหรือลบเนื้อหา โดยขออำนาจศาล ยังไม่มีคำสั่งปิดสื่อ ยืนยัน กอร.ฉ.ไม่มีนโยบายจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

วันนี้ (19 ต.ค.2563) กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) แถลงสถานการณ์การชุมนุมโดย  พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ระบุ ได้รับแจ้งจากหน่วยข่าวว่ามีการนำเสนอข้อมูลอันอาจจะเกิดความสับสน หรือปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบได้ จึงออกประกาศออกมา แต่ประกาศจะต้องให้หน่วยงาน กสทช. หรือ ดีอีเอส ไปพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่ได้รับว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ หากทำผิดกฎหมายให้หน่วยงานนั้นๆ พิจารณาตามการบังคับใช้กฎหมาย

หากต้องการถอดบางข้อความ หรือระงับการออกอากาศ ต้องขออำนาจศาลต่อไป สำหรับประกาศฉบับนี้ออกมายังไม่ได้บังคับใช้ เนื่องจากต้องกำหนดขั้นตอน หลักเกณฑ์ปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานต่อไป

กอร.ฉ.ไม่มีนโยบายหรือคำสั่งที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ และยังไม่มีการสั่งปิดสื่อ เป็นเพียงการจัดการข้อมูลข่าวสารที่มีปัญหาเป็นชิ้นๆ ไป

แต่งตั้ง ปลัดอีดีเอส นั่งประธาน คกก.บริหารจัดการสื่อ

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวอีกว่า วันนี้ได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการบริหารจัดการสื่อและข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง มีหน้าที่จัดการข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏทางสื่อมวลชน เอกสาร หรือข้อมูลข่าวสารทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือได้รับจากประชาชน ที่ไม่เหมาะสมและกระทบความมั่นคงประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่สืบสวน ตรวจสอบ ติดตามความเคลื่อนไหวของการสื่อสาร ข้อมูล ข่าวสาร หรือบุคคลที่มีการเผยแพร่ รวมทั้งส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่และระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม โดยจะกำหนดมาตรการเชิงรุกบังคับใช้กฎหมาย หรือให้เกิดความสงบเรียบร้อยในการใช้ข่าวสาร

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้จะรวบรวมข้อมูลข่าวสาร และประชุมเวลา 10.00 น. โดยมีปลัดรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธาน เมื่อพบเป็นข้อมูลข่าวสารที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หากเป็นบุคคลจะเรียกมาตักเตือน แต่หากพบผิดกฎหมายจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งความดำเนินคดี ส่วนเฟกนิวส์ให้หน่วยงานนั้นๆ ดำเนินการเช่นกัน

ดีอีเอสจ่อเอาผิดเผยแพร่-ส่งต่อข้อมูลผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ขณะที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ได้ติดตามข้อมูลจากใช้สื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 14-18 ต.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ใช้งานที่เข้าข่ายกระทำความผิดในทุกแพลตฟอร์ม จำนวน 300,000 URL สำหรับผู้ใช้รายได้ที่ยืนยันตัวตนได้ว่าเป็นใคร และพบการกระทำผิดจริง ปลัดกระทรวงดีอีเอสจะเริ่มเข้าแจ้งความดำเนินคดีตั้งแต่ช่วงบ่ายวันนี้

นายพุทธิพงษ์ ย้ำว่า ขอเตือนประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในช่วงที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ระมัดระวัง ยืนยัน ดีอีเอสดำเินนการอย่างรอบคอบและมีข้อมูลหลักฐาน ระกอบ หากไม่ผิดหรือฝ่าฝืนข้อกฎหมายก็จะไม่ดำเนินคดี นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบสำนักข่าวบางสำนักเข้าข่ายกระทำผิดในสื่อสังคมออนไลน์ด้วย โดยในส่วนที่นำเสนอในสื่อสังคมออนไลน์ครั้งแรกอาจเป็นการเตือนก่อน แต่จะต้องแจ้งความดำเนินคดีด้วยเช่นกัน ส่วนที่นำเสนอในทีวีดิจิตอลนั้นจะมีการประสาน กสทช.ต่อไป 

เราไม่ได้ดำเนินคดีทุกคน หากไม่เข้าข้อกฎหมาย ก็ไม่ดำเนินคดี ยืนยัน ดีอีเอสดำเนินการอย่างรอบคอบมาก

เตรียมเอาผิดเพจไลฟ์เหตุเผชิญหน้า ตร.-ผู้ชุมนุม ซ้ำ

ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร. ระบุว่า กรณีเฟกนิวส์ กอร.ฉ.ตรวจพบเพจเฟซบุ๊กไลฟ์เหตุการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ บริเวณแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. และไลฟ์ซ้ำวันที่ 17 ต.ค. เวลา 20.18 น. และวันที่ 18 ต.ค. เวลา 19.29 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการชุมนุม

การกระทำดังกล่าวเป็นลักษณะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า เจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมมีการเผชิญหน้า ทั้งที่ในข้อเท็จจริงไม่มีเหตุการณ์เหมือนที่ไลฟ์ จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กอร.ฉ.จะดำเนินคดีกับผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กต่อไป

เตือนประชาชนรับข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ราชการ และสำนักข่าวหลักที่ได้ตรวจสอบข้อมูลอย่างถี่ถ้วนและถูกต้องแล้ว

ข่าวจาก ThaiPBS

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: