เครื่องกั้นต้องมา! เร่งติดตั้งจุดตัดทางรถไฟแก้ปัญหา เผย35จุดเสี่ยง รฟท.ฟ้องแพ่งรถบัส





คมนาคม เร่งติดเครื่องกั้นอัตโนมัติจุดเกิดเหตุ โยกงบ กปถ.30 ล้าน ศึกษาแก้ปัญหา 35 จุด Black Spot เกิดเหตุซ้ำซาก รฟท.จ่อฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายเจ้าของรถบัส

วันที่ 12 ต.ค.63 นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัด ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีรถไฟชนรถบัสขณะไปทำบุญทอดกฐิน ที่สถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น ต.บางเตย จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

โดยระบุว่า ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เชิญการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมการขนส่งทางราง และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาหารือถึงมาตรกาป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดรถไฟเป็นการเร่งด่วน โดยที่ประชุมมีมติให้เร่งแก้ไข โดยแบ่งมาตรการแก้ไขปัญหาออกเป็นระยะดังนี้ 1.ระยะสั้น ให้ รฟท.เร่งแก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดที่เกิดอุบัติเหตุ โดยปรับปรุงป้ายและไฟกระพริบสัญญานเตือนที่เสียให้พร้อมใช้งานได้ภายใน 7 วัน

นอกจากนี้ยังมอบให้ รฟท. เสนออนุกรรมการกลั่นกรองการอนุยาและแก้ ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ก่อนเสนอต่อให้คณะกรรมการร่วมพิจารณาการขออนุญาและการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนน ซึ่งมีตนเป็นประธานพิจารณาอนุญาต เพื่อขอติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติบริเวณจุดเกิดเหตุ โดยจะใช้เงินจากกองทุนความปลอดภัยทางถนน (กปถ.) ซึ่งปกติราคาเครื่องกั้นอัตโนมัตจะมีราคาราว 4-5 ล้านบาท

และ 2.ระยะกลาง มอบให้กรมการขนส่งทางราง ไปศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางทางรถไฟที่เป็นแบล็กสปอต (Black Spot) ที่พบว่ามีความเสี่ยงและมักเกิดอุบัติเหตุซ้ำ จำนวน 35 แห่ง เพื่อพิจารณาความเหมาะสมให้ชัดเจนว่า ควรจะต้องมีการดำเนินการปิดถาวร หรือปรับปรุง และหากต้องปรับปรุงควรจะปรับปรุงเป็นลักษณะใดจึงจะปลอดภัยมากที่สุด

เบื้องต้นมีหลายทางเลือก เช่น การทำเป็นสะพานทางข้ามรถยนต์, ทางลอดรถยนต์ หรือทำเป็นระบบไม้กั้นอัตโนมัติ เบื้องต้นได้รับจัดสรรงบจากกองทุน กปถ. มาแล้ว 29.50 ล้านบาท เพื่อศึกษาแก้ปัญหา 35 จุดที่เป็นความเสี่ยง

สำหรับแบล็กสปอต ทั้ง 35 จุดนั้น พบว่า 9 จุดมีการติดเครื่องกั้นแล้ว แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุ และในจำนวนนี้ มีอีก 9 จุดที่เป็นทางลักผ่าน ซึ่งกรมรางต้องเร่งศึกษาว่าจะจัดการปรับปรุงแต่ละจุดอย่างไร คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จต้นปี 65 สำหรับ 35 จุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยอาทิ แก่งคอย-บ้านช่องใต้, หนองปลาดุก-สุพรรณบุรี, สาภี-ป่าเส้า, โพธารา-เจ็ดเสมียน และ พานทอง-ชลบุรี

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วานนี้ (12 ต.ค.) นายสถานีคลองบางพระ ได้แจ้งความดำเนินคดีฟ้องร้องคดีแพ่งกับเจ้าของรถบัสรับจ้าง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกรณีที่ทำให้ทรัพย์สมบัติของการรถไฟเกิดความเสียหาย เบื้องต้นจากการสำรวจพบว่าหัวรถจักรการรถไฟได้รับความเสียหายบางส่วน ตู้บรรทุกสินค้าฉีกขาดเสียหายจำนวน 1 ตู้ และบุบและเป็นรอยอีก 5 ตู้ โดยขณะนี้บริษัทประกันภัยกับบริษัทเจ้าของตู้สินค้าอยู่ระหว่างลงพื้นที่ประเมินความเสียหาย เพื่อให้ได้ยอดที่จะฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: