สิงห์ดำรุ่นใหม่ ขึ้นป้ายเชิดชู “2รุ่นพี่” เสียชีวิตเหตุรุนแรงปี16 พร้อมนำมาตั้งชื่อห้องประชุม





สิงห์ดำรุ่นใหม่ ขึ้นป้ายเชิดชู 2รุ่นพี่ เสียชีวิตเหตุรุนแรงปี16 พร้อมนำมาตั้งชื่อห้องประชุม

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยแพร่รูปภาพเป็นภาพป้ายประชาสัมพันธ์ เป็นรูปของ วิชิตชัย อมรกุล และ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน สองรุ่นพี่ศิษย์เก่า ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ช่วงปี 2516 พร้อมนำชื่อมาตั้งเป็นชื่อห้องประชุมอาคารกิจกรรมนิสิต

ป้ายเราไม่ลืม… รำลึก 6 ตุลาฯ ที่จามจุรีสแควร์

สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ขอความอนุเคราะห์ศูนย์อาหารเรนทรี จามจุรีสแควร์ นำป้ายขึ้นแสดงบนจอภาพ เพื่อรำลึกถึง วิชิตชัย อมรกุล และ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

สโมสรฯ ขอเชิญชวนทุกคนทำความรู้จักกับทั้งสองท่านนี้โดยสังเขป

วิชิตชัย อมรกุล สิงห์ดำรุ่นที่ 28 เป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 นักกีฬารักบี้ฟุตบอล คณะรัฐศาสตร์ เคยศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เขาเลือกเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีความเสี่ยงสูง วิชิตชัยเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้

ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน สิงห์ดำรุ่นที่ 8 เป็น 1 ในผู้ร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญในสมัยของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อนเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และร่วมก่อตั้ง “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย” มีคำขวัญว่า “ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” มีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับความกินดีอยู่ดีของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่ตนพึงมีอย่างแท้จริง ดร.บุญสนอง ถูกลอบสังหาร ก่อน 6 ตุลาฯ เพียงไม่กี่เดือน เป็นสัญญาณเตือนถึงความรุนแรงที่ใกล้เข้ามา

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการย้ำเตือนสังคมไทยไม่ให้ตกอยู่ภายใต้ความรุนแรงอีกครั้ง พร้อมทั้งเชิดชูความกล้าหาญของศิษย์เก่าสิงห์ดำทั้งสองคน ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สังคมไทยดีขึ้น

เพื่อร่วมไว้อาลัยและยกย่องทั้งสองท่าน 6 ตุลาคมปีนี้ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้จัดกิจกรรมรำลึก 44 ปี 6 ตุลาฯ ณ อาคารกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เวลา 16:00 – 19:30 น.

อีกทั้ง มีพิธีเปิดห้องประชุมอย่างเป็นทางการที่ได้นำชื่อของบุคคลทั้งสองนี้มาเป็นชื่อห้องประชุม เพื่อเป็นเกียรติประวัติของคณะ และย้ำเตือนชาวสิงห์ดำได้ตระหนักถึงเส้นทางการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

ปล. ขอเชิญชวนทุกคน หากแวะผ่าน สามารถถ่ายรูปคู่กับป้ายบนจอภาพได้ โดยจอภาพที่แสดงอยู่บริเวณประตูชั้นใต้ดินของห้างฯ เชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และบริเวณประตูชั้นใต้ดินเชื่อมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์, สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: