ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า โควต้ารายชื่อผู้ค้าสลากรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนซื้อจองกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลประมาณ 160,000 ราย มีข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ร่วมอยู่ด้วย คาดว่าอาจมีมากถึง 100,000 คน โดยกลุ่มคนมักขายช่วงต่อให้กับผู้ค้าสลากซึ่งเป็นยี่ปั๊ว ก่อนที่จะขายให้กับผู้ค้ารายย่อยที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าล็อตเตอรี่ตัวจริง จึงทำให้ราคาขายปลีก สูงขึ้นจากราคาจริงที่กำหนดไว้ที่ราคา 80 บาท ผนวกกับล็อตเตอรี่ถูกคัดมาให้เป็นเลขชุดเดียวกัน หรือเลขสวยจึงทำให้มูลค่าขายปลีกพุ่งขึ้นเป็นใบละ 100 ถึง 150 บาท

“กลุ่มข้าราชการ ไม่ควรที่จะมีโควต้าในรายชื่อผู้ค้าสลากรายย่อย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับเงินเดือนประจำจากรัฐ ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการเอาเปรียบ และตัดโอกาสการเข้าถึงโควต้าของผู้ค้าสลากรายย่อย ที่ทำอาชีพดังกล่าวเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว โดยต้องเพิ่มโอกาสให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อยได้จำหน่ายล็อตเตอรี่ในราคาตามกฎหมายคือ 80 บาท จากราคาขายส่งที่พุ่งสูงถึงใบละ 90 บาท ทำให้ต้องขายปลีกในราคาใบละ 100 -150 บาท ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมาย และเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ค้ารายย่อย สุดท้ายแล้วผลกระทบจากเรื่องนี้จึงตกอยู่กับผู้บริโภคซึ่งเป็นชาวบ้านทั่วไป” นายสัณหพจน์ กล่าว 

ดังนั้นตนขอเรียกร้องให้ คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เร่งหาวิธีแก้ไขจัดสรรและตรวจสอบโควต้าผู้ค้าสลากรายย่อยใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ค้าสลากตัวจริง และผู้บริโภค เป็นการแก้ไขการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม 

“ตนสนับสนุน แนวทางการแก้ไขปัญหาสลากราคาแพงของ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) คุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการหาผู้ค้าตัวจริง โดยให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดสั่งการไปยังนายอำเภอ ให้คนที่อยากเป็นผู้ค้าตัวจริง ลงทะเบียนเขียนคำร้องมา แล้วตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เขียนคำร้องนั้น หากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนด จึงจะพิจารณาแบ่งตามโควต้าการขายให้คนละ 5 เล่ม  โดย 1 เล่มจะมี 100 ใบ เฉลี่ยมีต้นทุนที่ 70.40 บาท หรือ 7,040 บาทต่อ 1 เล่ม ซึ่งสามารถนำไปขายตามราคาที่กฎหมายกำหนดได้คือไม่เกินใบละ 80 บาท ซึ่งจะทำให้มีกำไร 9.60 บาทต่อใบ” นายสัณหพจน์ กล่าวในตอนท้าย

ข่าวจาก คมชัดลึกออนไลน์