เปิดอก “ส.ว.วันชัย” ชี้ยกเลิก ส.ว.ได้เลย ไม่ต้องโหวตนายกฯ เอา ผบ.ออกไป ปรับใหม่ที่มา





“ผมมองดูว่ามันเป็นระเบิดเวลา มันถึงเวลาที่จะต้องชำระสะสางกับปัญหาในรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นปัญหาหนึ่งของความขัดแย้ง ที่ทั้ง ส.ส. โดยรวมทั้งฝั่งรัฐบาลเองก็เห็นว่ามีประเด็นปัญหาอยู่ รวมทั้ง ส.ว.ก็เห็น ภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหว มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ตรงไหนที่เป็นปัญหา เป็นข้อขัดแย้ง ผมว่าแก้ไขซะ เพื่อที่จะลดความขัดแย้ง ดับไฟแห่งความแตกแยก บ้านเมืองเราตอนนี้ไม่มีเวลาที่จะต้องมาทะเลาะกัน เราทะเลาะกันมาเป็นสิบๆ ปี”

คำตอบยืนยันจาก ส.ว.วันชัย สอนศิริ ที่มองว่าถึงเวลาที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำประเทศออกจากวิกฤตขัดแย้งครั้งรุนแรงนี้แล้ว

ส.ว.วันชัยมองว่า สิ่งใดที่จะดับไฟแห่งความขัดแย้งได้ และทำได้เร็วที่สุด ยิ่งเป็นการแก้ไขปัญหาของประเทศ

“สาเหตุที่ผมคิดในมุมมองแบบนี้ เพราะว่าเราเห็นปัญหาจริงๆ แล้วก็เห็นว่ามันหมดความจำเป็นจริงๆ ที่ ส.ว.เข้ามาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ในเมื่อ ส.ส.เขาไม่เอา บอกว่าเป็นข้อขัดแย้ง ในเมื่อเราเป็น ส.ว.ก็เห็นว่า มันก็หมดความจำเป็นแล้วเพราะในระยะเปลี่ยนผ่าน ให้การถ่ายโอนอำนาจจาก คสช.มาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย”

“ในระยะนี้ทั้งคนร่างรัฐธรรมนูญและคนที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นเขาไม่แน่ใจว่าจะเกิดแรงกระแทกหรือไม่ เลยให้ ส.ว. 250 คนประคับประคองในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ผมอยู่มาปีกว่าๆ ผมเห็นว่าเปลี่ยนไปแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องมี ส.ว.ในการเข้ามาร่วมโหวตนายกฯ อีกต่อไป”

“ที่สำคัญ คนที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ มันก็แปลว่าเขามีเสียงเกินกว่า 250 อยู่แล้ว เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำรงคงอยู่ความเป็นรัฐบาลได้ เมื่อเราพิจารณาจากข้อเท็จจริง พิจารณาจากข้อกฎหมาย ว่าถ้าขืนยังเอาไว้ต่อไป จะกลายเป็นแต่ปัญหาความขัดแย้ง”

“เพราะฉะนั้น ผมเห็นว่ากรณีนี้จะช่วยลดความขัดแย้งทั้งในและนอกสภา รวมทั้งข้อครหาต่างๆ รวมทั้งเรื่องที่อาจจะกระทบมายัง ส.ว.ด้วย ผมเห็นว่าหมดความจำเป็นและควรต้องแก้ไขในส่วนนี้ซะ”

ถามว่าจะสื่อสารกับเพื่อนๆ ส.ว.ที่ยังหวงและกอดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้แน่นอย่างไร ส.ว.วันชัยบอกว่า “ผมมองว่าความคิดแต่ละคนล้วนเป็นอิสระ 250 คนความคิดก็แตกต่างกันออกไป ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตกผลึกเป็นความคิดเดียวกัน อย่างตอนที่เราจะมีคำถามพ่วง ที่จะให้มี ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี สมัยนั้นผมอยู่สภาปฏิรูปประเทศ จำได้ว่าก็มีความเห็นแตกต่างกันมากมาย แต่ในที่สุดพอถึงวันหนึ่ง ก็หล่อหลอมได้”

“ดังนั้น ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องถกแถลงกัน ผมเชื่อว่าจะเดินไปด้วยกันได้ ผมเชื่อเหลือเกินว่าวันนั้นอาจจะไปในแนวทางใกล้เคียงกันได้”

“ผมคิดว่าจะต้องทำเรื่องการโน้มน้าวคนต่างๆ ด้วย แต่เขาจะเอาด้วยกับเราหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

“วันที่ผมทำภารกิจเรื่องคำถามพ่วง ก็มีคนมากมายที่ไม่เห็นด้วยกับผม ก็ต้องต่อสู้กันพอสมควร ผมคิดว่าอาจจะต้องเริ่มจากทีละหน่วยและมีปัจจัยอะไรต่างๆ อีกมากมาย แต่เชื่อว่าด้วยปัจจัยที่แตกต่างหลากหลายนี้ วันหนึ่งคนจะเห็นพ้องต้องกันแล้วตกผลึกได้ เพราะบริบทของประเทศมันเปลี่ยน สถานการณ์มันเปลี่ยน และเมื่อเราลองใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้าจริงๆ แล้ว ก็เห็นว่าน่าจะต้องเปลี่ยน แล้วไม่ใช่เป็นเรื่องของการกลับกลอก”

“เราต้องดูสถานการณ์ เหมือน covid-19 ใครจะคิดว่ามันจะมา ประเทศเปลี่ยนแรง เศรษฐกิจเปลี่ยน คนเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน”

“คนร่างรัฐธรรมนูญในสมัยนั้นเองก็คงไม่เคยคิดว่า ความขัดแย้งในขณะนี้มันไม่ใช่ความขัดแย้งในบริบทแบบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว คนร่างอาจจะมองในกรอบเก่าๆ ปัญหาเดิมๆ ระหว่างกลุ่มนั้นพรรคนี้ วันนี้พอเข้ามานั่งในสภา จะเห็นว่ากลุ่มขัดแย้งเดิมแทบจะไม่มีแล้ว บางส่วนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว กลายเป็นความขัดแย้งใหม่ “ระหว่างรุ่น” รุ่นใหม่รุ่นเก่า ความคิดใหม่ความคิดเก่า และมันแรงกว่าเก่าอีก”

“เพราะฉะนั้น บริบทเดิม ความคิดเดิมอาจจะไม่รองรับต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้เองก็มีส่วน ดังนั้น อันใดก็ตามที่มันไม่สามารถจะรองรับความเปลี่ยนแปลงได้ ก็ต้องรีบแก้ไข ไม่ให้เกิดความรุนแรง ต้องรีบทำ”

มองไปที่การชุมนุมของนิสิต-นักศึกษา ส.ว.วันชัยบอกว่า “ผมเองบอกตรงๆ ว่าดีใจกับการเคลื่อนไหวของคนวัยหนุ่ม-สาว เราเองก็เลยจุดนี้มานานแล้ว ก็เห็นว่าเด็กหนุ่ม-สาวนี้สงบเงียบหายไปนานทางการเมือง พอเห็นเขาตื่นตัวขึ้นมาดีใจ เพราะเขามีส่วนรับรู้ รับผิดชอบต่อบ้านเมือง พวกเราเองก็ต้องแก่และตายกันต่อไป”

“แต่สิ่งที่วิตกที่ทำให้ขบวนการของเขามีปัญหาและล้มเหลวได้คือมีบางคนบางกลุ่มบางพวกที่อาจจะสอดแทรกเข้าไป แล้วไปเอาขบวนการนิสิต-นักศึกษานี้มาใช้ในลักษณะถือโอกาส ไปกระทำการที่ไม่สมควร”

“ผมถือว่าเป็นเรื่องเกินเลย ผมเชื่อว่ามีเพียงแค่คนบางกลุ่มไม่กี่คนอาศัยจังหวะแบบนี้เข้ามา เลยจะทำให้ขบวนการเหล่านี้มีปัญหาก่อให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งช่วงนี้อยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลว่าจะจัดการด้วยวิธีใด แต่ส่วนตัวเห็นว่าเวทีรัฐสภาจะเป็นเวทีที่แก้ปัญหาและระดมความเห็นให้เป็นหนึ่งเดียวได้ และอย่างน้อยที่สุดก็เป็นการสะท้อนความจริงใจว่ารัฐสภาเคารพประชาชน”

“หรือการเรียกร้องของน้องๆ นักศึกษา เช่น ให้ยกเลิก ส.ว.นั้น ผมเองไม่ได้ตื่นเต้น แล้วก็ไม่ได้ขัดข้องอะไรเลย เพียงแต่เราต้องไปดูบริบทของโลกใบนี้ว่าเป็นอย่างไร แล้วพูดตามตรงที่ผมอยู่ในสภามาเห็นทั้งระบบสรรหาและระบบเลือกตั้ง ผมมองดูแล้วพูดแบบความเห็นส่วนตัวเต็มๆ เลย ผมคิดว่า “ระบบเลือกตั้งดีที่สุด” เขามองเห็นประชาชน แล้วมีส่วนในการขับเคลื่อนตัวเขา”

“ชีวิตผมทั้งชีวิตนี้ ไม่ว่าจะมาเป็น ส.ว.หรือตำแหน่งไหนที่ผ่านมา ผมไม่เคยวิ่งเต้นกับใครเลย และผมไม่เคย ก็ต้องเกรงใจคนนั้นคนนี้ ผมคิดว่าการที่ใครเขาเรียกผมมาเพราะมองเห็นในตัวผมว่ามีความอิสระในตัวเองและผมไม่ได้หวังอยากจะได้อำนาจอะไรจากใคร นี่คือตัวผมเอง ความเป็นอิสระในตัวเรา มันยิ่งใหญ่กว่าการได้เป็นอะไรหรือไม่ได้เป็นอะไร ผมถือว่ามีเกียรติหากทำอะไรเพื่อความถูกต้อง เมื่อเราเห็นปัญหา แล้วก็พูด ถ้าเราไม่กล้ามันเหมือนเป็นการดูถูกตัวเอง เรานั่งอยู่กินเงินเดือนเขาแล้วก็ต้องทำ”

“เมื่อเราเห็นรัฐธรรมนูญเป็นปัญหา ถ้าแก้ไขแล้วไม่มีใครจะเป็นจะตายหรอก เมื่อได้ความปรองดองกลับมาผมว่าทำไปเถิด เรื่องของอำนาจมันไม่จีรังยั่งยืน แต่ความถูกต้องนั้นแหละยั่งยืน โดยคิดจากการเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นตัวตั้ง ไม่ต้องวิตกว่าใครจะตำหนิวิพากษ์วิจารณ์”

“ขอให้องอาจในสิ่งที่ทำและกล้ารับผิดชอบกับสิ่งที่ทำไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น”

ส.ว.วันชัยบอกอีกว่า “เผอิญผมเองอยู่ในส่วนของการร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้นก็มองว่าต้องแก้ไขในหลายประเด็น นอกจากกรณีแรกที่กล่าวไปแล้วว่าการโหวตนายกฯ ที่ไม่ควรต้องมีแล้ว เรื่องต่อมาคือการให้ ผบ.เหล่าทัพมานั่งเป็น ส.ว. 6 ตำแหน่ง คนร่างคงหวังให้ท่านมานั่งเพื่อป้องกันการรัฐประหาร เพื่อให้รับรู้ทางการเมือง แต่เอาเข้าจริงๆ มันเป็นความลำบากของคนเหล่านี้ที่งานปกติก็เต็มมืออยู่แล้ว บางทีก็มาเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น”

“ประการที่ 3 คือกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ ตลอดจนคุณสมบัติก็มีปัญหา บางองค์กรยังสรรหาไม่ได้เลย ประการสุดท้าย คือกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ทดลองไปแล้ว 50 คน ผมเองมองว่าไม่น่าจะเหมาะสมเท่าไหร่และมีปัญหา มีความซับซ้อนยุ่งยาก ถ้าแก้แล้วผมเชื่อเหลือเกินว่ามันจะมีแต่ผลดี”

“อย่างไรก็ตาม สมมุติว่าวันนี้ยังไม่มีการแก้กติกา แล้วมีเหตุใดๆ เช่น ต้องโหวตนายกฯ ใหม่ ผมเชื่อเหลือเกินว่าผลโหวตจาก 250 ส.ว. ผมกล้าพูด 100% ผลไม่เหมือนเดิมแน่นอน สมมุติ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก แล้วมีคนใหม่หรือจะเป็นคนเดิมก็ตาม ผมกล้ายืนยันว่าคะแนนนั้นไม่เหมือนเดิมแน่นอน ผมหมายความว่า ส.ว.เขาอยู่มาปีกว่าเขารู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร และวันที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์วันนั้นเขาก็มีบริบทแบบนั้น แต่วันนี้เหตุการณ์สถานการณ์ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว”

“สุดท้ายหากให้นิยามตัวเอง ผมมองว่า ตัวผมก็คือตัวผม เป็นคนเอาบ้านเอาเมือง เอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ชีวิตผมเหลือเวลาที่ทำงานให้กับประเทศนี้ไม่นานแล้ว อาจจะ 1 ปี 2 ปี แต่สิ่งที่จะอยู่นั้นคือความถูกต้องและผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ”

“ขณะที่ตัวเองจะเป็นอะไรหรือไม่เป็นอะไร ไม่ใช่เป็นประเด็นสำหรับ “วันชัย สอนศิริ” ครับ”

ชมคลิป

ข่าวจาก มติชนสุดสัปดาห์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: