รมว.ดีอี เดือด! หมายหัว “เฟซบุ๊ก” จ่อดำเนินคดี หลังแปลข้อความพลาด





31 ก.ค.63 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพจากหน้าเพจเฟซบุ๊กของสื่อหลายแห่งในการถ่ายทอดสดพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และมีข้อความที่ไม่เหมาะสมแสดงขึ้นมา

โดยเป็นคำแปลจากข้อความต้นฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยที่มีความหมายไม่ถูกต้องนั้น กระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ประสานไปยังเฟซบุ๊กแล้ว ขณะที่ ไทยพีบีเอสเองก็ได้แจ้งความไปยัง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) เพื่อดำเนินคดีกับเฟซบุ๊กแล้ว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงไม่เคยนิ่งนอนใจกับการดำเนินการเว็บไซต์ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งยูทูปให้ความร่วมมือ 90% ขณะที่เฟซบุ๊กให้ความร่วมมือเพียง 30% เท่านั้น

เห็นได้ว่า เฟซบุ๊กไม่ให้ความร่วมมือเลย ทั้งๆที่เขามาทำงานในประเทศไทย มาให้บริการกับคนไทย จึงควรที่จะเข้าใจบริบทของสังคมไทย ยอมรับในสิ่งที่คนไทย ยึดมั่น นับถือ และรับผิดชอบสังคมไทยด้วย ไม่ใช่ส่งไปให้ปิดแล้วก็นิ่งเฉย คนทั่วไปก็ไม่เข้าใจคิดว่ากระทรวงฯนิ่งเฉย เมื่อต้นเรื่องที่ต่างประเทศไม่ให้ความร่วมมือ กระทรวงฯก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะกระบวนการทำงานของกระทรวงฯได้ประสานไปหมดทุกขั้นตอนแล้ว

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอส สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) หารือร่วมกัน ถึงมาตรการเชิงรุกเกี่ยวกับเรื่องการกระทำความผิดทางออนไลน์ ที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมกันในการทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้มีการแจ้งผลการดำเนินการรวดเร็วขึ้น มีความต่อเนื่องในการทำงานมากขึ้น

จากเดิมที่คณะทำงานเดิมอาจจะทำงานไม่ต่อเนื่องในเรื่องของรายชื่อคนเข้ามาประชุมและไม่ได้มีการรายงานผลการปิดเว็บไซต์แบบรวดเร็ว ซึ่งต่อจากนี้คณะทำงานชุดนี้ต้องนำมาปัดฝุ่นให้ทำงานเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อไอเอสพีด้วยว่าไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่และอาจ

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในรอบ 7 เดือนแรกของปี 2563 กระทรวงดีอีเอส ได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และประสานงานร่วมกับไอเอสพี จนนำไปสู่กระบวนการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐาน

และยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งปิดหรือลบข้อมูลในเว็บไซต์ผิดกฎหมายไปแล้ว จำนวน 7,164 ยูอาร์แอล (วันที่ 23 กรกฎาคม 2563) จากจำนวนที่กระทรวงได้รับแจ้งทั้งสิ้น 8,715 ยูอาร์แอล และมีการส่งศาล 7,164 ยูอาร์แอล

สำหรับการกระทำผิดส่วนใหญ่ที่ได้รับข้อมูลจากการแจ้งข้อมูลเข้ามา พบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ และมีช่องทางอื่นๆ บ้าง ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้ดำเนินการส่งข้อมูลให้กับ บก.ปอท. จำนวน 7,164 ยูอาร์แอล พร้อมพยาน หลักฐาน และคำสั่งศาล เพื่อดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป

“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการร่วมกัน โดยมีขั้นตอน เริ่มจากรับแจ้งเว็บไซต์จากประชาชน พร้อมทั้งตรวจสอบ รวบรวมหลักฐานพยานที่ครบถ้วน และมีขั้นตอนของการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปิดหรือลบข้อมูลต่อไป จากนั้นขั้นตอนสำคัญคือ หากได้คำสั่งศาลก็จะมีการส่งให้กับไอเอสพี

และส่งคำสั่งศาลให้กับผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ (เฟซบุ๊ก, ยูทูป, ทวิตเตอร์) เพื่อดำเนินการปิดหรือลบข้อมูลที่ผิดกฎหมายต่อไป โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับไอเอสพี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นับเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อให้ปัญหาการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ลดลง” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับเกี่ยวกับเรื่องการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือทางออนไลน์ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีบทบัญญัติที่มีการกำหนดความผิดและกำหนดโทษทางอาญา สำหรับการเผยแพร่ หรือสร้างข่าวปลอมในรูปแบบต่างๆ

โดยเฉพาะในมาตรา 14 มาตร 15 และมาตรา 16 ที่บัญญัติถึงการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามมาตราดังกล่าวกับความผิดในประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดลักษณะหมิ่นประมาทคล้ายกัน แต่บังคับใช้กับกรณีที่ต่างกัน

โดยความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะครอบคลุมถึงเพียงการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จในการก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ไม่รวมไปถึงข้อมูลที่เป็นจริง แต่มีลักษณะเป็นการให้ร้ายบุคคลอื่นแต่อย่างใด ในขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นจะรวมถึงการใช้ข้อมูลที่เป็นความจริงและเท็จอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

และสำคัญเมื่อส่งผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ตามมาตรา 27 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

“รัฐบาลพยายามที่จะจัดการกับปัญหาการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ในทุกรูปแบบ แม้กระทั่งข่าวปลอมโดยใช้เครื่องมือทางกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน โดยเราจะเน้นไปยังข่าวปลอม เฉพาะที่สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายกับประชาชนในวงกว้าง แต่จะไม่เข้าไปจัดการกับข่าวที่เพียงกระทบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ เรื่องที่ห้ามทำ ผิดกฎหมาย พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ประกอบด้วย

  • 1.เข้าถึงระบบ หรือข้อมูลของผู้อื่นโดยไม่ชอบ
  • 2.แก้ไข ดัดแปลง หรือทำให้ข้อมูลผู้อื่นเสียหาย
  • 3.ส่งข้อมูลหรืออีเมล์ก่อกวนผู้อื่น หรือส่งอีเมลสแปม
  • 4.เข้าถึงระบบ หรือข้อมูลทางด้านความมั่นคงโดยมิชอบ
  • 5.จำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อนำไปใช้กระทำความผิด
  • 6.ข้อมูลที่ผิด พ.ร.บ. เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
  • 7.ให้ความร่วมมือ ยินยอม รู้เห็นเป็นใจกับผู้ร่วมกระทำความผิด
  • 8.ตัดต่อเติม หรือดัดแปลงภาพ
  • 9.เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเยาวชน ต้องกระทำโดยปกปิดไม่ให้ทราบตัวตน
  • 10.เผยแพร่เนื้อหาลามก อนาจาร
  • 11.กดไลก์และแชร์ถือเป็นวิธีหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูล
  • 12.แสดงความคิดเห็นที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
  • 13.ละเมิดลิขสิทธิ์ นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: