เปิดประวัติ “เศรษฐพุฒิ” จากกุนซือนายกฯ สู่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนที่21





ในที่สุด “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ที่เคยเป็นตัวเต็งว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่วันเปิดรับสมัครครั้งแรก ก็ได้เข้ามายื่นใบสมัคร ในนาทีสุดท้ายก่อนปิดรับสมัครรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งได้รับแต่งตั้งมาตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.2557

ขณะเดียวกันเขาเพิ่งหมดวาระดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. ไปเมื่อไม่นานมานี้ หลังเข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2560 จึงทำให้ถูกจับตาว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.

รวมถึงยังเป็นกรรมการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธปท. มาตั้งแต่ปี 2558

นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่ปี 2559

และ ยังเป็นกรรมการ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2557

ด้วยโปรไฟล์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ “เศรษฐพุฒิ” ถูกจับตาในฐานะนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่ “โดดเด่น” ของยุคสมัย เป็นนักเรียนนอก จบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จาก Swarthmore College สหรัฐอเมริกา, พ่วงด้วยดีกรีปริญญาโท และ ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ประเทศสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกัน

จากนั้นก็ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี 2529 – 2531 โดยเป็นที่ปรึกษาธุรกิจเชิงกลยุทธ์ใน Mckinsey (แมคคินเซย์) และ ช่วงปี 2535 – 2541 เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารโลก (World Bank) ก่อนถูกดึงมานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง (สวค.) หน่วยงาน “Think Thak” มันสมองของกระทรวงการคลัง ช่วงปี 2541 – 2543 ช่วงที่ประเทศไทยต้องกู้เงินกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

ซึ่งผู้อำนวยการร่วม สวค. ในขณะนั้นก็คือ “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบันที่กำลังจะครบวาระดำรงตำแหน่งในสิ้นเดือน กันยายนนี้

“เศรษฐพุฒิ” กลับไปทำงานที่ธนาคารโลกอีกครั้ง ช่วงปี 2544 – 2547 ก่อนจะกลับมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในปี 2548 – 2550

จากนั้นช่วงปี 2550 – 2551 ก็ไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) และขยับขึ้นเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ช่วงปี 2551 – 2552 ตลอดจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ของธนาคารไทยพาณิชย์ ช่วงปี 2552 – 2554

หลังจากออกจากธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด ช่วงปี 2554 – ม.ค. 2561 ระหว่างนั้นก็นั่งเป็นกรรมการ ธนาคารทหารไทยอยู่ 2 ปี คือในปี 2554 – 2555

หลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ถูกเว้นวรรคทางการเมือง ต่อมาก็ได้จัดตั้ง “สถาบันอนาคตไทยศึกษา” ขึ้นมา โดยได้ดึง “เศรษฐพุฒิ” เข้ามานั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริหารสถาบัน ช่วงปี 2555 – 2560 และเมื่อ “สมคิด” กระโจนเข้าสู่การเมืองอีกครั้งในยุค คสช. “เศรษฐพุฒิ” ก็เข้ามามีบทบาททั้งกับภาคการเมือง และภาคเศรษฐกิจการเงินของประเทศมากขึ้น

หลังจากบ่าย-เบี่ยง ตำแหน่งทางการเมืองมาตลอด 5 ปี ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เพียง 3 วัน เขาถูกแต่งตั้งเป็น 1 ใน 6 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พร้อมกับ นายนายดิสทัต โหตระกิตย์ ,นายบุญทักษ์ หวังเจริญ,นายปิติ ตัณฑเกษม,นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

ล่าสุด หลังนายกรัฐมนตรี ระดมคณะที่ปรึกษาประชุมลับ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล “เศรษฐพุฒิ” ที่ทุกฝ่ายเก็งไว้ว่าเป็นตัวเต็งตั้งแต่ต้น ก็เข้าลู่สู่สนามชิงชัย ตำแหน่ง ว่าที่ผู้นำวังบางขุนพรหม คนที่ 21

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: