ต่ำสุดในรอบ20ปี! เอกชนหั่นเป้าส่งออกข้าวไทยเหลือ6.5ล้านตัน เสียตลาดให้”จีน-เวียดนาม”





‘สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย’ ปรับลดคาดการณ์ส่งออกข้าวปีนี้เหลือ 6.5 ล้านตัน จากเดิม 7.5 ล้านตัน ลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี หลังเจอ ‘ปัญหาภัยแล้ง-ค่าเงินบาทแข็ง-คู่แข่งแย่งส่วนแบ่งตลาด’ แต่คาดมูลค่าส่งออกยังใกล้เคียงกับปีที่แล้ว 1.3 แสนล้านบาท เร่งรัฐบาลผลักดันยุทธศาสตร์ข้าว 10 ปี พัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่สู้ ร้องธปท.ดูแลค่าเงินบาท

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยแนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในครึ่งหลังของปี 63 ว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกข้าวแล้ว 3.5 ล้านตัน และคาดว่า 5 เดือนที่เหลือของปี ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ประมาณ 3 ล้านตัน หรือส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 6 แสนตัน ดังนั้น สมาคมฯจึงได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกข้าวไทยทั้งปี 63 เหลือเพียง 6.5 ล้านตัน จากเดิมที่คาดว่าจะส่งออกได้ 7.5 ล้านตัน

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้คาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้เพียง 6.5 ล้านตัน และเป็นปริมาณส่งออกข้าวที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปีนั้น เป็นผลจากสถานการณ์ภัยแล้งปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกในประเทศลดลง 5 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเปลือกเจ้าลดลง 4 ล้านตัน และข้าวเปลือกหอมมะลิลดลง 1 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศและราคาข้าวส่งออกของไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ลำบากมาก

ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทเริ่มอ่อนลงมาบ้าง แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งจะพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่า ทำให้ข้าวไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง นอกจากนี้ พันธุ์ข้าวพื้นแข็งของไทยเริ่มไม่เป็นนิยม โดยเฉพาะข้าวขาว เห็นได้จากในช่วงครึ่งปีแรกฟิลิปปินส์นำเข้าข้าว 1.3 ล้านตัน แต่เป็นข้าวไทยไม่ถึง 2 แสนตัน จากปกติที่ไทยมีส่วนแบ่ง 50% โดยข้าวที่ฟิลิปปินส์นำเข้า 70-80% มาจากเวียดนาม และส่วนใหญ่เป็นข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม

“เราปรับลดคาดการณ์การส่งออกข้าวปีนี้จาก 7.5 ล้านตัน เหลือ 6.5 ล้านตัน และถ้าจะให้เป็นไปตามเป้าหมายในช่วงที่เหลือของปีนี้ เราต้องส่งออกข้าวได้เดือนละ 6 แสนตัน ซึ่งเราหวังว่าเมื่อผลผลิตข้าวฤดูใหม่เริ่มออกในเดือนก.ย.นี้ จะทำให้ราคาข้าวในประเทศอ่อนตัว และทำให้เราส่งออกได้มากขึ้น” ร.ต.ท.เจริญกล่าว

 

ร.ต.ท.เจริญ เสนอว่า รัฐบาลต้องเร่งรัดจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวระยะ 10 ปี พร้อมทั้งผลักดันยุทธศาสตร์ให้มีผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม ซึ่งเป็นที่นิยมของตลาด แม้ว่าข้าวพันธุ์ใหม่แต่ละพันธุ์จะต้องใช้เวลาพัฒนาพันธุ์ไปจนการผลิตและส่งออกถึง 5-7 ปีก็ตาม และขอเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า โดยหากเงินบาทอยู่ที่ 32.5-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะช่วยให้ไทยส่งออกข้าวได้มากขึ้น

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การปรับลดคาดการณ์การส่งออกข้าวไทยปีนี้เหลือ 6.5 ล้านตันดังกล่าวนั้น ถือเป็นปริมาณการส่งออกข้าวที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี และเป็นระดับที่ต่ำกว่าช่วงที่รัฐบาลชุดก่อนมีนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกในปี 2555-56 เสียอีก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณส่งออกข้าวไทยจะลดลง แต่สมาคมฯคาดว่ามูลค่าส่งออกข้าวในปีนี้จะอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท หรือ 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“แม้ว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ในปริมาณต่ำสุดในรอบ 20 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 43 แต่เนื่องจากราคาต่อหน่วยของข้าวไทยสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) ไทยขายข้าวได้เฉลี่ย 21,041 บาทต่อตัน หรือที่ 673 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขายได้ 16,516 บาทต่อตัน หรือ 523 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จึงคาดว่ามูลค่าส่งออกข้าวไทยจะอยู่ที่ 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.3 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว” นายชูเกียรติกล่าว

นายชูเกียรติ ระบุว่า แม้ว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกข้าวไทยจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่ด้วยปริมาณการส่งออกทั้งปี 63 ที่จะลดลงเหลือ 6.5 ล้านตัน ซึ่งทำให้ไทยตกลงมาอยู่ในอันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดียที่คาดว่าจะส่งออกได้กว่า 10 ล้านตัน และเวียดนามที่คาดว่าจะส่งออกได้ 7.2 ล้านตันนั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าไทยกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสูญเสียตลาดฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ไปให้กับเวียดนาม รวมทั้งสูญเสียตลาดแอฟริกาให้กับจีน

ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าของไทยลดลง ยังทำให้บางประเทศหันไปนำเข้าข้าวจากประเทศคู่แข่งของไทยที่มีราคาข้าวถูกกว่า และสถานการณ์อย่างนี้น่าจะนานหลายปี 

“ปีนี้เราน่าจะหล่นมาอยู่อันดับ 3 ในแง่ปริมาณส่งออกข้าว จากที่เคยอยู่อันดับ 2 แต่อีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจหล่นไปอยู่อันดับ 4 ก็ได้ เพราะในอีก 5 ปีข้างหน้า จีนจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมาก เนื่องจากวันนี้จีนผลิตข้าวเหลือเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ล่าสุดสต็อกข้าวของจีนเพิ่มเป็น 117 ล้านตันข้าวสาร สูงกว่าปริมาณที่ต้องสำรองไว้ใช้ในประเทศที่ 60-70 ล้านตัน ถึงเกือบเท่าตัว หากจีนจะส่งออกข้าวปีละ 5-6 ล้านตัน จากปัจจุบัน 3 ล้านตัน ก็ไม่ยากเลย” นายชูเกียรติระบุ

นายชูเกียรติ ประเมินด้วยว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า พม่าจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกอีกราย โดยปัจจุบันพม่าส่งออกข้าวปีละ 3-4 ล้านตันในช่วงระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น ขณะที่พม่าพื้นที่เหลืออีกมาก และมีแม่น้ำถึง 4 สาย ที่สนับสนุนน้ำในการเพาะปลูก รวมทั้งมีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำมาก เพียงแต่ว่าพม่ายังต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์อีกระยะหนึ่ง จึงเป็นคำถามว่าที่ยืนของข้าวไทยในตลาดโลกจะอยู่ตรงจุดไหน

นายชูเกียรติ ยังกล่าวว่า หากต้องการให้ข้าวไทยยังแข่งขันได้ในตลาดโลกได้ ไทยต้องเร่งพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ๆที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และต้องเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยเป็นอย่างน้อย 1,000 กิโลกรัม (ก.ก.) ต่อไร่ จากปัจจุบันที่ผลผลิตข้าวเฉลี่ยของไทยอยู่ที่เฉลี่ย 450 ก.ก.ต่อไร่ หรือมีต้นทุน 8,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก เทียบกับเวียดนามที่มีผลผลิตเฉลี่ย 960 ก.ก.ต่อไร่ หรือมีต้นทุน 7,000 บาทต่อตัน และอินเดียมีผลผลิตเฉลี่ย 620 กก.ต่อไร่หรือมีต้นทุน 5,200 บาทต่อตัน

ขณะที่จีน ซึ่งกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้านั้น มีผลผลิตข้าวเฉลี่ยสูงถึง 2,000 ก.ก.ต่อไร่ ทำให้ต้นทุนผลิตต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมาจีนดัมพ์ราคาขายข้าวขาวไปยังตลาดแอฟริกาที่ระดับราคาเพียง 300-310 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เทียบกับราคาข้าวขาวของไทยที่มีราคา 520 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ข้าวขาวเวียดนาม 460 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และข้าวอินเดียที่มีราคา 360 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ด้านนายโชคชัย เศรษฐีวรรณ อุปนายกสมาคมส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.63) ไทยส่งออกข้าวได้แล้ว 3.14 ล้านตัน ลดลง 32.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อินเดียส่งออกข้าวได้ 4.53 ล้านตัน ลดลง 24% เวียดนามส่งออกข้าวได้ 4.04 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 23.6% ปากีสถานส่งออกข้าวได้ 2.04 ล้านตัน ลดลง 5.5% และสหรัฐส่งออกข้าวได้ 1.59 ล้านตัน ลดลง 1.3% ส่วนจีนยังไม่มีรายงานตัวเลขออกมา แต่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 1.5 ล้านตัน

 

ข่าวจาก สำนักข่าวอิศรา

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: