สว.ชงนายกฯ เดินหน้า “พรบ.นิรโทษกรรม” คล้ายแบบสมัย รบ.ยิ่งลักษณ์





เมื่อวันที่ 14 ก.ค. เวลา 13.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2562 พร้อมรายงานของคณะ กรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.อภิปรายว่า ในส่วนแผนแม่บทความมั่นคงนั้น เมื่อการเมืองมีปัญหา ขาดเสถียรภาพ ความสงบในประเทศย่อมไม่ยั่งยืนตามไปด้วย การปฏิบัติให้บรรลุผลตามยุทธศาสตร์ชาติย่อมไม่สำเร็จ จึงขอเสนอการสร้างความปรองดองว่า

ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเร่งตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจากความผิดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548-2563 เพราะความขัดแย้งทำให้สังคมแยกเป็น 2 ขั้ว และแยกย่อยมากขึ้นทุกที ร้าวลึกถึงระดับครอบครัว มีผู้มีคดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมนับร้อยคน เชื่อมโยงไปถึงมวลชนอีกนับล้านคน ที่เมื่อมีคดีตัดสินออกมาจะเกิดวิวาทะทางออนไลน์

“อย่างนี้นายกรัฐมนตรีจะรวมไทยสร้างชาติได้อย่างไร เมื่อคนกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งให้ขึ้นศาลทุกสัปดาห์ จะไปต่างประเทศต้องรายงานต่อศาล หลายคนถูกยึดทรัพย์ การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยสงครามคอมมิวนิสต์ยังจบได้ ด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ด้วยการนิรโทษกรรมให้อภัย เปิดโอกาสให้พลังทุกภาคส่วนมาร่วมพัฒนาชาติไทย

ถึงเวลาต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม การทำผิดของคนที่มาชุมนุมการเมืองหรือทำผิดทางอาญาที่มีเหตุเกี่ยวเนื่องชุมนุมทางการเมืองนั้น ไม่ใช่มีจิตเป็นอาชญากรโดยแท้ แต่ต้องการสังคมที่ดีกว่า ต้องการการเมืองใหม่ การปฏิรูปประเทศ การ กระทำทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทำผิดกฎหมาย จึงต้องนิรโทษกรรมประชาชนทุกกลุ่ม ดังนั้นนายกรัฐมนตรีอย่าลังเล”นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ส่วนคำถามที่ว่า คนหนีคดีจะทำอย่างไรนั้น ในหลักการอธิบายรายละเอียดได้ อาทิ

  • 1.นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมการเมืองโดยตรง
  • 2. นิรโทษกรรมเบื้องต้นเฉพาะผู้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว
  • 3. ใครยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือหนีคดีไปนั้น ถ้ากลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาที่จะออกแบบตั้งขึ้นมา ย่อมได้สิทธินี้
  • 4.อาจจะต้องตีความนิยามการชุมนุมทางการเมืองผ่านการออกแบบจากคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมา

จึงอยากให้นายกฯ แสดงเจตจำนงนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน อาจเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 จะต้องนำไปพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งจะเป็นการสร้างบารมีให้นายกฯ

 

เพื่อสร้างระบบประชาธิปไตยที่มั่นคง มีธรรมาภิบาล ถ้านายกฯรวมใจคนทุกภาคส่วนเข้ามา โดยมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นก้าวแรกก็จะก้าวต่อไปได้ จึงขอฝากความหวัง นำจิตสำนึกผู้รักชาติทุกคน ทุกสี ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด 15 ปี เพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎหมายนิรโทษกรรมในลักษณะนี้ ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรก หากย้อนไป เมื่อปี 2556 เคยมีการนำเสนอกฎหมายดังกล่าว โดยกลุ่ม ส.ส.เพื่อไทย ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐบาล โดยมีการนำเสนอ เป็น 2 ลักษณะคือ การนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนทุกสีเสื้อ ซึ่งเสนอโดย นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ตัวแทนกลุ่ม นปช.

และรูปแบบที่ 2 คือการนิรโทษกรรมทั้งแกนนำผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุม และบุคคลทางการเมืองที่มีคดีความทุกฝ่าย โดยนายประยุทธ์ ศิริพานิช ส.ส.เพื่อไทยเช่นเดียวกัน ซึ่งในรูปแบบที่ 2 นั้น ถูกกลุ่มประชาชนทั้งฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล และต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น ไม่เห็นด้วย

โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาล นำโดย นายสุเทพ เทือกสุรรณ แกนนำ กปปส. ได้ออกมาชุมนุมใหญ่ เพราะมองว่าการนิรโทษกรรมดังกล่าว เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับสู่ประเทศไทย จนกระทั่งรัฐบาลในเวลานั้น นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ ต้องถอยทุกร่าง พรบ.นิรโทษกรรม แต่สุดท้ายบานปลายจนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: