“ทวี” ชี้ จ้างสำนักทนายฟ้อง “ผู้กู้กองทุน กยศ.” เป็นการได้ไม่คุ้มเสีย





พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา จ้างสำนักงานทนายความดำเนินคดีกับผู้กู้ยืมเงินกยศ.โดยมีรายละเอียดดังนี้ การใช้เงิน ‘กองทุน กยศ.’ จ้างสำนักทนายความดำเนินคดีผู้กู้เงิน กยศ. เป็นการ “ได้ไม่คุ้มเสีย”

พรบ.กยศ. พ.ศ. 2541 ได้ถูกแก้ไขใหม่เป็น พรบ. กยศ. พ.ศ. 2560 ที่เปลี่ยนแปลงหลักคิดและปรัชญาที่มุ่งเชิงพาณิชย์และธุรกิจมากขึ้น อาทิ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1 เป็น ร้อยละ 7.5 ให้อำนาจนายจ้างดำเนินการหักเงินเดือนจากลูกจ้างที่เป็น หนี้ กยศ.ได้

เมื่อกองทุนได้แจ้งไป ให้อำนาจ กยศ. เข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกหนี้ได้ และกองทุน กยศ. มี “บุริมสิทธิ” คือ หลังจากหักไปจ่ายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม แล้ว ต้องจ่ายหนี้ กยศ. ก่อน เจ้าหนี้รายอื่น เป็นต้น

ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป กองทุน กยศ ได้รับประโยชน์จากกฎหมายไม่ต้องจัดงบประมาณแผ่นดินให้กองทุน เนื่องจากกองทุนฯ มีเงินหมุนเวียนที่เพียงพอ จากงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินปี กองทุน กยศ ปี พ.ศ. 2558 – 2562 สรุปโดยย่อดังนี้

– รายได้ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และอื่น ๆ

ปี 2558 จำนวน 5,731,591,895 บาทเศษปี 2559 จำนวน 6,770,487,577 บาทเศษปี 2560 จำนวน 6,754,431,545 บาทเศษปี 2561 จำนวน 6,813,277,956 บาทเศษ และ ปี 2562 จำนวน 7,425,358,756 บาทเศษ

– ค่าใช้จ่ายของกองทุน

ปี 2558 จำนวน 7,360,214,372 บาทเศษปี 2559 จำนวน 13,449,827,457 บาทเศษ ปี 2560 จำนวน -4,044,726,254 บาทเศษปี 2561 จำนวน 7,847,582,976 บาทเศษและ ปี 2562 จำนวน -24,923,049,754 บาทเศษ

– รายได้สูงกว่า/ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ

ปี 2558 รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 1,628,622,477 บาทเศษปี 2559 รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 6,679,339,880 บาทเศษ, ปี 2560 รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 10,799,157,799 บาทเศษ, ปี 2561 รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 1,034,305,019 บาทเศษและ ปี 2562 รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 32,348,408,511 บาทเศษ

หมายเหตุ

1. ปี 2560 มีการกลับรายการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลงจำนวน 10,573 ล้านบาทเศษ เป็นผลให้ค่าใช้จ่ายหนี้สงสัยจะสูญลดลงด้วยจำนวนดังกล่าว ค่าใช้จ่ายสุทธิรวมจึงมียอดจำนวน -4,044,726,254 บาทเศษ

2. ปี 2562 กองทุนได้มีการเปลี่ยนแปลงประมาณการหนี้สงสัยจะสูญ เป็นผลให้ค่าใช้จ่ายหนี้สงสัยจะสูญลดลงคงเหลือสุทธิ -28,001 ล้านบาทเศษ ค่าใช้จ่ายสุทธิรวมจึงมียอดจำนวน -24,923,049,754 บาทเศษ จากเหตุดังกล่าวมีผลทำให้งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินสำหรับปี 2562 มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจำนวน 25,562 ล้านบาทเศษ

ผู้กู้เงินจากกยศ. มีระยะเวลาปลอดหนี้ไว้ 2 ปี โดยนับจากปีที่จบการศึกษาหรือเลิกศึกษา และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาปลอดหนี้ผู้กู้ต้องผ่อนชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 15 ปี โดยต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี ปัจจุบันนี้มีผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2562 จำนวน 1.5 ล้านราย ทำให้ กองทุน กยศ ต้องใช้จ่ายเงินกองทุนว่าจ้างสำนักทนายความฟ้องและบังคับคดีกับผู้กู้ กยศ แยกเป็น

– ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี คดีละ 5,500 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 8,250 ล้านบาท

– ค่าบริหารจัดการคดีละประมาณ 1,200 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 1,800 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีจำนวนชั้นบังคับคดีกับผู้กู้ยืมเงินจำนวน 226,310 ราย โดยในชั้นบังคับคดีนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณคดีละ 8,750 บาท รวมเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,980 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กับพบว่าได้มีการยึดทรัพย์-อายัดทรัพย์แล้ว จำนวนเพียง 59,642 คดี รวมเงินต้นประมาณ 6,815 ล้านบาทเศษ แต่กรมบังคับคดีได้ยึดทรัพย์และมีทรัพย์ขายทอดตลาดจริงเพียง จำนวน 2,657 คดี คิดเป็นจำนวนเงินที่ได้คืนมาจริงเพียง 218 ล้านบาทเท่านั้น เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายมากมายขนาดนี้ แต่กลับได้เงินคืนมาเพียงเท่านี้ ถือว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”

ซ้ำร้าย มหันตภัยยังเกิดกับผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ที่แพ้คดีแพ่ง นั่นก็คือ การ ‘ถูกบังคับคดี ขายทอดตลาด ยึด อายัดทรัพย์’ ในกรณีลูกหนี้ที่ไม่มีหลักค้ำประกัน หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหากไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็สามารถยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้อีกโดย

เจ้าหนี้อาศัยเจ้าพนักงานบังคับคดี ในการยึดทรัพย์สินที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน หรือบ้าน บ่อยครั้งทรัพย์สินเหล่านี้มีมูลค่าเกินกว่าจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้ติดอยู่มาก โดยเจ้าหนี้มักจะอ้างว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สิน จึงจำเป็นต้องยึดบ้านยึดที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดี ก็ไม่อาจห้ามการยึดได้

การที่กองทุน กยศ. ได้จ่ายค่าจ้างสำนักทนายความในการติดตามทวงหนี้ ฟ้องคดี บังคับคดีและบริหารจัดการที่ใช้เงินกองทุนจำนวนมาก ทำให้กองทุน กยศ. ทำตัวเหมือนการทำธุรกิจที่ต้องการประโยชน์หรือมุ่งเน้นการสร้างกำไรจากการประกอบการ ทั้งที่เป็นเงินในกองทุน กยศ.มาจากภาษีอากรของประชาชน การที่นักเรียน นักศึกษากู้เงิน กยศ. เพื่อไปใช้การศึกษาจึงควรจัดเป็นสิทธิและสวัสดิการของบุคคลทุกคน

การใช้เงินกองทุนว่าจ้างสำนักทนายความฟ้องและบังคับคดีกับผู้กู้ กยศ.เป็นการแสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้กองทุน กยศ. สามารถเลือกใช้วิธีอื่นที่ประหยัดเงินมากกว่า

เช่น การขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการให้ ซึ่งสามารถกระทำได้ตาม พรบ.องค์กรอัยการฯ พศ. 2553 มาตรา 14 (5) วิธีการนี้จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความให้ดำเนินคดีนับพันล้านบาท

การศึกษาถือเป็นสิทธิของบุคคลทุกคนที่รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุน และมีความสำคัญสูงสุดในการพัฒนาคนทุกด้านทั้งความรู้ ความคิด จิตใจ และตัวตน การขัดเกลาเพื่อยกระดับความรู้ ความคิดและจิตใจอย่างสมบูรณ์

การศึกษาทำให้คนไม่ถูกความชั่วร้ายควบคุม และลากไปเหมือนสัตว์ที่ถูกเชือกลากไป การศึกษาจึงเป็นการพัฒนาและขัดเกลาคนที่ครอบคลุมในทุกด้านอย่างสมบูรณ์และเป็นสากลที่สามารถใช้ทุกเวลา สถานที่

การศึกษาจึงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่มอบให้กับทุกคน และต้องเป็นการศึกษาแบบให้เปล่าเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังคำกล่าวที่ว่า “การศึกษา สร้างคน คนสร้างชาติ”

จากวิกฤติการผลกระทบจากโควิด 19 สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ ‘สศช’ได้ออกรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2563 ระบุอัตราการวางงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.03 มีผู้ว่างงานเกือบ 4 แสนคน

และคาดว่าในปีนี้มีแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน ขณะที่เด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคนอาจไม่มีงานทำ ปรากฎการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลต่อ นักเรียน นักศึกษาที่กู้ยืมเงิน กยศ ที่จบใหม่จะหางานทำไม่ได้ จะได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นเป็นแน่

ข้อเสนอแนะ ควรจะยกเลิกหนี้ที่ผู้กู้ที่ค้างหนี้ทั้งหมดโดยมีกระบวนการ หลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอน แล้วยกเครื่องปรับระบบ กยศ. ใหม่ โดยสภาผู้แทนราษฎรให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในรัฐธรรมนูญ เน้นการกระจายอำนาจไปให้สถานศึกษา ชุมชนท้องถิ่น

และสภาผู้แทนราษฎรควรบูรณาการแก้ไข พรบ กยศ 2560 กับ พรบ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เสียใหม่ให้เหมาะเพื่อให้การศึกษาเป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกัน เป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้การพัฒนาความรู้ บุคลิกภาพและความสำนึกอย่างมีศักดิ์ศรีอย่างบริบูรณ์

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: