รมว.อุดมศึกษาฯ เล็งเบิก3หมื่นล้านจ้าง น.ศ.-บัณฑิตใหม่3แสนคน เงินเดือน15,000





“สุวิทย์” ปาดหน้าเค้กเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3 หมื่นล้าน ชงใส่มือนายกรัฐมนตรี จ้างงานบัณฑิตจบใหม่-นักศึกษาฝึกงาน 3 แสนคน หัวละหมื่นห้า ระยะ 2 ปีหลังโควิด ทำข้อมูลชุมชน 7,000 ตำบล เผยพวกจบปริญญาตรีเตะฝุ่น-ถูกเลิกจ้างนับล้านคน มั่นใจนโยบาย รัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาทำได้ทันที

จ้างบัณฑิต-น.ศ.ตกงาน 3 แสน

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง กระทรวง อว.มีนโยบายสร้างคน-สร้างงานบัณฑิตและนักศึกษาระยะเวลา 1 ปี จำนวน 300,000 คน แบ่งออกเป็น บัณฑิตจบใหม่ 200,000 คน นักศึกษา 100,000 คน ภายใต้ชื่อโครงการ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณราว 20,000-30,000 ล้านบาท

รมว.อุดมศึกษาฯ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รับหลักการแล้ว หลังจากนี้จะชี้แจงให้คณะกรรมการกลั่นกรองงบฯฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ เป็นการขออนุมัตินอกเหนือจากโครงการ “อว.สร้างงาน” สำหรับประชาชนทั่วไป 40,000 คน

“ให้ทั้งบัณฑิตและนักศึกษา 300,000 คน มีงานทำ 1 ปี เงินเดือน 15,000 บาท พร้อมพัฒนาชุมชน เอาอาวุธทางปัญญาไปลงในชุมชน งานนี้งานใหญ่ (big bang) ใช้เงินทั้งหมด 2-3 หมื่นล้านบาท ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นภาพนี้แล้ว”

โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ว่าจ้าง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ส่วนที่ 2 มหาวิทยาลัยภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็น regional center ดำเนินการ 4 เรื่อง เรื่องแรก เก็บข้อมูล (data) นักศึกษาและบัณฑิต 50,000 คน ทำเรื่องข้อมูล อีก 250,000 คน ลงพื้นที่พัฒนาสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

เรื่องที่สอง แหล่งน้ำ โดยร่วมกับแม่ทัพภาค 2 ปูพรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เป็น “อีสานเขียว” เรื่องที่สาม ขยะและน้ำเสีย นำเทคโนโลยีและการบริหารจัดการเรื่องที่สี่ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP) พัฒนา packaging ผลิตภัณฑ์ OTOP การสร้าง story telling โดยใช้อาจารย์และนักศึกษานิเทศศาสตร์ และเรื่องที่ห้า ท่องเที่ยวชุมชนและผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical indications : GI)

ติดอาวุธปูพรม 7,000 ตำบล

นายสุวิทย์กล่าวว่า หลังวิกฤตโควิด-19 อว.จะไปเพ้อฝันอนาคตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างงานก่อน ถ้าเป็นไปได้สร้างนักศึกษาติดถิ่นยิ่งดี พร้อมกันนั้นยังมีกองทุนยุวสตาร์ตอัพให้แก่บัณฑิตและนักศึกษาที่ทำงาน 1 ปี ระหว่างนั้นเห็นช่องทางต่อยอด ติดปลายนวมด้วยการฝึกภาษาอังกฤษ และสังคมดิจิทัล (digital social literacy) ทักษะชีวิต (life skills) เพื่อในอนาคตออกจากโครงการไปจะมีอาวุธทางปัญญาติดตัว

นอกจากนี้ ยังถือโอกาสทำเรื่อง big data ทุกตำบล โดยใช้พลังนักศึกษาหรือบัณฑิต 50,000 คน ปูพรม 7,000 ตำบล พร้อมกับใช้พลังนักศึกษาสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยทำเป็นแผนที่ชุมชน (community map)

คาดจบใหม่ตกงาน 8 แสนคน

นายสุวิทย์กล่าวว่า ก่อนโควิด-19 คาดว่าจะมีนักศึกษาตกงาน 500,000 คน แต่หลังเกิดโควิด-19 โครงการนี้สำคัญมาก เพราะบัณฑิตตกงานเดิม รวมกับบัณฑิตใหม่ที่จะจบออกมาตกงาน ที่คาดว่าจะมีบัณฑิตจบใหม่ตกงานประมาณ 30% กลายเป็นมีบัณฑิตตกงาน 70% ทำให้มีบัณฑิตใหม่ตกงานเพิ่มเป็น 700,000-800,000 คน รวมถึงบัณฑิตที่ถูกเลิกจ้าง ทำให้รวมมีบัณฑิตตกงานเป็นล้านคน การจ้างงานบัณฑิตและนักศึกษา 300,000 คน แม้ตอบโจทย์ไม่ถึง 100% แต่อย่างน้อยเป็นจุดเริ่มต้น

การใช้พลังนักศึกษา 300,000 คน ปูพรมลงพื้นที่ ถ้าบริหารให้ดีจะสามารถต่อยอดและตั้งตัวได้จากโครงการนี้ โดยกองทุนยุวสร้างชาติร่วมกับธนาคารออมสิน ขออย่างเดียวอย่าโกง ได้มวลชนอีกด้วย เป็นการสร้างงาน (job creation) ติดอาวุธทางปัญญาให้บัณฑิตและนักศึกษา รวมถึงชุมชน เพราะระยะเวลา 1 ปีที่เข้าร่วมโครงการ 2 เดือน ต้อง reskill-upskill ยกระดับชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการ

จ้างเรียนอาชีพหายากหมื่นห้า

นายสุวิทย์กล่าวว่า นอกจากโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จ้างงานบัณฑิตและนักศึกษา 300,000 คนแล้ว อว.กำลังจะทำโครงการ reskill-upskill คน ครั้งใหญ่ เดิมก่อนโควิด-19 ถูกดิสรัปต์อยู่แล้ว แต่หลังโควิด-19 สำหรับคนทั่วไปที่จะเปลี่ยนงาน หรือบัณฑิตที่จะตกงานมากขึ้น โดยให้มหาวิทยาลัยจ้างเรียนอีก 1 ปี เพื่อ reskill-upskill ขณะนี้อยู่ระหว่างทำหลักสูตร

“สมมุติเรียนจบปริญญาตรี 4 ปี ให้มหาวิทยาลัยจ้างเรียนอีก 1 ปี จบแล้วอย่าเพิ่งหางาน มา reskill-upskill ในอาชีพที่หายากของประเทศ โดยให้ทุนการศึกษา แต่อาจไม่ได้ให้ทุนการศึกษา 100% อาจให้ 20% หรือ 50% เท่ากับได้ปริญญาตรีแล้ว ยังได้ปริญญาตรีตัวที่ 2 ใช้เวลาแค่ 1 ปี หรือ 2 ปี อาจจะเป็นต่อปริญญาโท 1 ปี แต่ต้องเรียนในสาขาที่ประเทศต้องการ ขณะนี้อยู่ระหว่างทำหลักสูตร อาจจะเป็นปริญญาตรีแล้วต่อ nondegree ยังเป็นการแก้ปัญหาการแย่งงานในระบบ และประชาชนทั่วไปที่ต้องถูก reskill-upskill เช่น แรงงานในระบบ SMEs”

“ต้องผูกงานไว้ให้รัฐมนตรี อว.คนใหม่ ทำโครงไว้ให้ ขอเงินจากงบฯเงินกู้ 4 แสนล้านไว้ ถ้าเชื่อว่าสิ่งนี้ดีสามารถทำต่อได้ทันที ขึ้นโครงไว้แล้วค่อยลาออก” นายสุวิทย์ทิ้งท้าย

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: