ทส.แจงเหตุรื้ออาคารเก่าทั้งหลัง ยันประกอบใหม่ สวยเหมือนเดิม ด้านชาวป่าไม้แห่จวก





“วราวุธ” เผย “อธิบดีอุทยานฯ” แจงรื้อซ่อมแซมอาคารไม้สัก 127 ปี เหตุฐานปูนพังหนักต้องรื้อมาประกอบใหม่ ถ้าไม่รื้อก่อนซ่อมแล้วก็พังเหมือนเดิม เชื่อช่างเมืองแพร่ฝีมือดี กลับมาสวยงามเหมือนเดิม อดีตปลัดทส.-นักวิชาการป่าไม้โพสต์เฟซบุ๊กเสียดายหนัก ชาวป่าไม้จวกยับแนวคิดผู้บริหาร

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงกรณีภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ และประชาชนชาว จ.แพร่ กว่า 50 คน เข้าพบนางกานต์เปรมปรีย์ ชิตมนนม์ ผวจ.แพร่ เพื่อคัดค้านการรื้อทำลาย “อาคารบอมเบย์เบอร์มา” อาคารประวัติศาสตร์ เรือนไม้ 2 ชั้น อายุ 127 ปี ในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หลังมีการดำเนินโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน ว่า ได้รับรายงานจากนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ซึ่งย้ำว่าอันนี้เป็นการซ่อมแซม แต่การซ่อมครั้งนี้เป็นการของบจากจังหวัด และเนื่องจากเป็นการซ่อมอาคารไม้ทั้งหลัง ซึ่งไม้ทุกแผ่นกองอยู่ข้างๆ ไม่ได้หายไปไหน สาเหตุที่ต้องรื้อไม้ลงมาเพราะฐานรากคอนกรีตของอาคารเสื่อมสภาพ การจะซ่อมได้ต้องทุบทิ้งก่อน และต้องทำฐานรากใหม่ พอทำฐานรากเสร็จแล้ว ก็มาประกอบตัวอาคารใหม่ เมื่อประกอบใหม่ก็มีคนบอกว่าไม่เหมือนเดิม แต่ถ้าไม่ซ่อมก็พัง ถ้าซ่อมแล้วฐานรากไม่แข็งแรงก็พังอีก ในเมื่อฐานรากพังคอนกรีตพังไปแล้วเพราะผ่านมาเป็น 100 กว่าปี ก็ต้องมาหล่อกันใหม่ เข้าใจได้ว่าต้องเอาไม้ออกทั้งหลังก่อน เมื่อทำฐานรากเสร็จแล้วก็จะใช้ช่างฝีมือทำเข้าไปใหม่

นายวราวุธกล่าวว่า ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าเมื่อบูรณะแล้วจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ หลายอาคารที่มีการบูรณะรูปแบบที่ทำออกมาแล้วก็เหมือนเดิม แต่สีอาจจะผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่เชื่อว่าทาง จ.แพร่ มีช่างที่มีฝีมือ จึงเชื่อว่าการประกอบอาคารหลังการบูรณะจะกลับมาเหมือนเดิมได้

ทั้งนี้ การรื้ออาคารดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของข้าราชการ ทส.และแวดวงนักวิชาการด้านการป่าไม้เป็นอย่างมาก โดยนายวิจารย์ สิมาฉายา อดีตปลัด ทส.โพสต์ข้อความพร้อมภาพถ่ายนายวิจารย์ด้านหน้าอาคารดังกล่าวและภาพข่าวอาคารที่ถูกรื้อถอน โดยระบุว่า ก็ได้แต่เสียดาย มีโอกาสไปเยือนก่อนเกษียณ ยังแนะนำให้เจ้าหน้าที่ในขณะนั้นเขียนเรื่องราวทั้งอาคาร ทั้งพื้นที่ ทั้งประเภทและอายุต้นไม้ ในบริเวณข้างเคียงและอนุรักษ์ไว้ ถือว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้งอายุของอาคารมากกว่า 120 ปี และเป็นพื้นที่ที่มีการศึกษาและพัฒนาทางด้านการป่าไม้ของไทย ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงทั้งการศึกษาป่าไม้ วิจัย การค้าและอุตสาหกรรมป่าไม้จนมาถึงปัจจุบัน โดยมีนักวิชาการ ข้าราชการกรมอุทยานฯ และกรมปาไม้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของผู้บริหารกรมอุทยานฯ อย่างรุนแรง

 

นายขวัญชัย ดวงสถาพร อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา โพสต์ภาพอาคารดังกล่าวพร้อมข้อความระบุว่า ผมถ่ายรูปอาคารไม้สักหลังนี้ที่ริมแม่น้ำยม จ.แพร่ เมื่อตอนต้นปีนี้ (19 มกราคม 2563) วันนี้ทราบจากทางสื่อต่างๆ ว่ามีการรื้อทิ้งทั้งหลายจนเหลือแต่เนินดิน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อซ่อมแซมให้ดีในฐานะที่เป็นคนสอนและศึกษาวิจัยด้านนโยบายป่าไม้ นอกจากมีโอกาสได้ชื่นชมความวิจิตรตระการตาของอาคารไม้สักหลังนี้แล้ว ทำให้เห็นภาพคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความยิ่งใหญ่ของการป่าไม้ไทยอย่างลึกซึ้งมากกว่าอ่านในตำราอย่างเดียว

“เมื่อกลับมากรุงเทพฯ ผมยังได้หารือนอกรอบในที่ประชุมคณะอนุกรรมการการจัดร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติฯ ว่าน่าจะอนุรักษ์อาคารไม้สักของเมืองแพร่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของการป่าไม้ไทยและประเทศไทยของคนไทยทุกคน ทันทีที่ทราบข่าวและเห็นภาพ มีหลายความรู้สึกและหลายคำถามครับ “ผู้ทรงวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม กล่าว

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: