จ่อดึง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ใช้แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”ถ้าเอาอยู่”





เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษารองรับเพื่อรองรับกรณีหากมีการยกเลิกประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีหากยกเลิกการใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แล้ว อาจจะใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558  แทน ว่า  ต้องไปประเมินกันเอง เพราะได้แนะนำไปหลายแนวทาง โดยจะต้องไปพูดคุยกับฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง ที่ผ่านมาฝ่ายสาธารณสุขก็ปรารภเรื่องความยุ่งยากหลายอย่าง หากไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และได้ยกตัวอย่างกรณีแรงๆ หลายกรณี

ส่วนตนบอกว่า ไม่ทราบเพราะไม่เคยเจอ จึงแนะนำให้ลองไปคิดเองว่ากระทรวงสาธารณสุขสามารถมีความพร้อมขนาดไหนในการเผชิญปัญหา  สมมติว่า หากให้เครื่องบินและนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ไม่ว่าจะการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด (Travel Bubble) หรือจะเป็นคนไทยก็ตาม หากเราเกิดความสงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ คำถามคือ 1.อำนาจที่จะสั่งให้เข้าสู่สถานกักตัวของรัฐนั้นมีหรือไม่ 2.ให้ไปกักตัวที่ไหน 3.ใครเป็นคนสั่ง และเรื่องที่สำคัญคือ 4.ค่าใช้จ่ายที่ใช้ ตรงนี้ก็ต้องหาคำตอบ หากแก้ปัญหาได้ก็วางใจไว้ แต่หากยังติดปัญหาอยู่ก็คิดกันอีกครั้ง

เมื่อถามว่ามีกฎหมายฉบับใดที่จะใช้รองรับหากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายวิษณุ กล่าวว่า ตอนนี้มีเพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อ เท่านั้น ซึ่งมีอำนาจน้อย เพราะพ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นกฎมายที่ถูกออกแบบมารับมือกับการระบาดแบบทั่วไป ไม่ใช่สำหรับการะบาดใหญ่ แต่สามารถใช้ได้ ทุกวันนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลดลงแล้ว แต่เป็นเรื่องที่เราเกรงหรือกลัวเรื่องในอนาคตเท่านั้นเอง ถ้าเป็นที่วางใจอย่างวันนี้ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 22 วันแล้ว ก็ถือว่าน่าอุ่นใจ กว่าจะถึงปลายเดือนนี้ก็ไม่มีติดต่อกัน 30-40 วันแล้ว

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ตนได้พูดย้ำแล้วว่า ที่กลัวกันคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศนั้นทำให้เกิดอำนาจตามมาตรา 9 ที่สามารถออกข้อกำหนดได้ 6 เรื่อง ซึ่งถ้าเราไม่ใช้ 6 เรื่องนี้ ข้อกำหนดนั้นก็จะไม่เกี่ยวอะไรกับประชาชน แต่จะเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดเหตุ 2 ประการ คือ 1.ส่วนที่บังคับใช้กระทบกับประชาชน คือ มาตรา 9  และ 2.ส่วนที่บังคับใช้แล้วไม่กระทบกับประชาชน คือ มาตรา 7 ที่ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่นอกเหนือไปจากเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคเป็นบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข หากเราสามารถทำงานแบบบูรณาการ นำตำรวจ ทหาร พลเรือน และอสม.มาร่วมทำงานด้วย คนเหล่านั้นทำงานด้วยความเชื่อมั่น ไม่เกรงกลัวอะไร

ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) สามารถออกคำสั่งโดยไม่ต้องวิตกมากนักว่าเมื่อสั่งไปแล้วจะมีคนไปร้องศาลปกครอง หากเป็นอย่างนี้ก็จะเดินหน้าใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ ซึ่งทำให้ผวจ.ต้องเป็นสั่งเอง มีอำนาจภายใต้การทำงานของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเท่านั้น และคณะกรรมการฯ ประกอบด้วยกรรมการที่มาจากหลายฝ่าย รวมถึงเอกชน และท้องถิ่น รัฐจะไปสั่งการเขาไม่ได้ ถ้าเขาเดินในแนวทางเดียวกันได้ เราก็มั่นใจ และสามารถปล่อยให้ทำงานได้ แต่ถ้าเขาไม่มั่นใจไปสั่งการแต่กลัวถูกฟ้อง เราก็คิดว่าต้องมีมาตรฐานกลางที่ทำให้เขากล้า ทั้งหมดไม่ได้มีการบอกว่าซ้ายหรือขวา เราจึงให้เลขาธิการสภาความั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานในเรื่องนี้

“ผมเล่าให้ฟังว่า ผมยังไม่ได้คุยอะไรกับเขา ตอนนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ เดี๋ยวก็จะไปพาดหัวกัน หาว่าผมชี้อีก”นายวิษณุ กล่าว.

ข่าวจาก เดลินิวส์ออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: