ส่องโครงการเด็ด “กระทรวงดิจิทัล” ชงของบฟื้นฟู 1.4พันล้านบาท





หลังจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทผ่านฉลุย พร้อมให้รัฐบาลเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็เข้าสู่ช่วงที่แต่ละกระทรวงต้องเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุน

ในฝั่งของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” เปิดเผยว่า งบประมาณที่กระทรวงฯ เตรียมยื่นเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในชุดแรกมี 7 โครงการ มูลค่ารวม 14,000 ล้านบาท

โดยโครงการที่ของบประมาณสนับสนุนมากที่สุดคือ โครงการสนับสนุนค่าจัดส่งสินค้าอุปโภค บริโภค และค่าจัดส่ง จัดซื้อสินค้าจำหน่ายในแพลตฟอร์มของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) มูลค่า 4,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการซื้อ-ขายสินค้า โดยเฉพาะเกษตรกร โดยงบประมาณดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการจัดส่งสินค้าออนไลน์ให้กับเกษตรกร

รองลงมาคือ โครงการขยายจุดให้บริการฟรีไวไฟในชุมชนเมืองทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 มูลค่า 2,049 ล้านบาท ซึ่ง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะนำไปใช้ขยายจุดเชื่อมต่อไวไฟฟรีในชุมชนเมือง เพื่อรองรับการใช้งานออนไลน์ทั้งในการประกอบอาชีพ ทำธุรกิจ และการเรียนออนไลน์ เป็นโครงการเพิ่มเติมจากโครงการเน็ตประชารัฐที่เน้นติดตั้งโครงข่ายเฉพาะพื้นที่ชายขอบ

โครงการฝึกอบรมสร้างทักษะด้านดิจิทัล มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับบัณฑิตจบใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทำให้มีโอกาสจะตกงานสูง โดยเบื้องต้นจะให้งบประมาณอบรม 50,000 ราย ได้รับเงินสนับสนุนเป็นเวลา 3 เดือนๆ ละ 10,000 บาท

โครงการรวมพลังเด็กไทยพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เพื่อฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) มูลค่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด

โครงการจัดทำข้อมูลประชาชนเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มูลค่า 1,964 ล้านบาท โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เพื่อให้สำนักงานสถิติจังหวัดว่าจ้างคนในพื้นที่ 100-200 คน กระจายทุกอำเภอและหมู่บ้าน สำรวจความเดือดร้อนและความต้องการช่วยเหลือของประชาชนเพื่อนำกลับมาเป็นข้อมูลกำหนดนโยบายของรัฐบาล ให้ช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุด

โครงการพัฒนาคลาวด์แพลตฟอร์มเพื่อรองรับนิวนอร์มอล หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มูลค่า 893 ล้านบาท โดย สดช. ร่วมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) สำหรับพัฒนาคลาวด์ให้หน่วยงานและประชาชนหันมาใช้คลาวด์ของคนไทย ไม่ต้องพึ่งพาคลาวด์ของต่างประเทศ

และโครงการยูนิฟาย คอมมูนิเคชั่น แพลตฟอร์ม สำหรับพัฒนาแพลตฟอร์มการประชุมทางไกล e-meeting มูลค่า 70 ล้านบาท โดย กสท โทรคมนาคม เพื่อเป็นททางเลือกแทนการใช้แพลตฟอร์มของต่างประเทศ

“โครงการที่เสนอไปไม่ใช่ว่าจะได้รับการอนุมัติทั้งหมดตามวงเงินที่ยื่นขอไป แต่จะมีการพิจารณาของคณะกรรมการ ในวันที่ 22 มิ.ย. 2563 จากนั้น วันที่ 30 มิ.ย. 2563 เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการ”

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: