“กรีนบัส” เชียงใหม่ ขอรัฐชดเชย 30% หลังเปิดเดินรถโดยทำตามกฎ “ที่เว้นที่”





กรีนบัส ยักษ์ใหญ่รถโดยสารเชียงใหม่ร้องรัฐ วอนเยียวยากลับมาเปิดวิ่งให้บริการ แต่เจอกฎเหล็กนั่งที่เว้นที่ทำต้นทุนพุ่ง ขอช่วยชดเชย 30 % ชี้หากไม่ช่วยใน 2 เดือนต้องหยุดวิ่ง 

นายสมชาย ทองคําคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด (หรือกรีนบัส) ผู้ให้บริการรถโดยสารรายใหญ่ของภาคเหนือ ที่ปัจจุบันขยายเส้นทางให้บริการข้ามภูมิภาค กล่าวว่า ผลกระทบโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงเหลือไม่ถึง 10 % และเมื่อรัฐประกาศล็อกดาวน์จังหวัด”อยู่บ้านหยุดเชื้อ” ต้องหยุดเดินรถชั่วคราวทั้งหมดตั้งแต่ 1 เมษายน 2563  ถึงปลายเดือนสถานการณ์เริ่มดีขึ้นจึงกลับมาเดินรถให้บริการ โดยเริ่มจากสายสั้นและที่คนมีความจำเป็นในการเดินทางก่อน และเพิ่มเติมขึ้นเรื่อย ๆ โดยปฎิบัติตามข้อกำหนดความปลอดภัยกรมการขนส่งทางบกอย่างเคร่งครัด ซึ่งบางเงื่อนไขกระทบผู้โดยสาร เช่น ต้องขึ้น-ลงเฉพาะที่สถานีจังหวัด ไม่สามารถลงระหว่างทางได้ 

บริษัทบริหารค่าใช้จ่ายจากวิกฤติโควิด-19 ในด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงานพนักงาน ในช่วงหยุดให้บริการชั่วคราวให้ไปขอรับการเยียวยาจากประกันสังคม ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ในอัตรา 62 % ของค่าจ้าง โดยคิดฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ไม่เกิน 3 เดือน พร้อมกับเจรจาซัพพลายเออร์ ขอเลื่อนชำระหนี้ออกไป ไม่ว่าจะเป็นค่างวดรถ เงินกู้ ค่าประกันภัย วัตถุดิบสิ้นเปลือง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง อะไหล่ 

นายสมชายกล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องประกันสังคมแล้ว อีกเรื่องที่ได้ทำหนังสือถึงภาครัฐขอรับการเยียวยา คือ หากกรมการขนส่งทางบก เปิดให้ผู้ประกอบการกลับมาเดินรถใหม่ในเดือนมิถุนายนนี้ แต่ยังมีข้อกำหนดมาตรป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 บังคับให้เว้นระยะห่างในการให้บริการ จะทำให้รายได้ค่าโดยสารหายไปประมาณ 50%  และในช่วงเปิดเดินรถที่ผ่านมามีอัตราการจองที่นั่งอยู่ที่ประมาณ 45 % ขณะที่มีต้นทุนบวกกับค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 75% จึงแจ้งภาครัฐขอให้ช่วยเยียวยาในอัตรา 30% ของรายได้ เป็นเวลา 3 เดือน คือ พ.ค.-ก.ค. นี้ เพราะถ้าให้วิ่งในอัตราค่าโดยสารเดิมแต่เว้นที่นั่ง ไม่เกิน 2 เดือนต้องจอดเหมือนเดิม

 

ส่วนแผนการเปิดเดินรถจากนี้ถึงสิ้นปี คาดว่าจะเปิดได้มากสุด 70 % ของจำนวน 36,000 เที่ยววิ่งของปีที่แล้ว ส่วนใหญ่จากเส้นทางในภาคเหนือ ส่วนเส้นทางวิ่งข้ามภาค เช่นปลายทางภูเก็ต สุราษฎร์ธานี บึงกาฬ ต้องรอว่าแต่ละจังหวัดจะอนุญาตให้วิ่งได้เมื่อไหร่ และการเดินรถสามารถไปถึงปลายทางในเวลากี่โมง เพราะถ้าติดเคอร์ฟิวก็ยังเปิดไม่ได้ 

“กรีนบัสโชคดีที่ได้ลงทุน 90 กว่าล้านบาท เปลี่ยนขนาดรถวิ่งข้ามภาคจากขนาด 15 เมตร ลดลงเป็น 12 เมตร จำนวนที่นั่งจาก 33 เหลือ 24 ที่นั่ง ซึ่งคาดว่าจะพอดีกับจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงหลังจากนี้ โดยรถคันเดิมก็นำมาปรับปรุงสภาพเหมือนรถใหม่ และนำมาวิ่งในเส้นทางที่มีผู้โดยสารค่อนข้างเยอะ เช่น เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย เชียงใหม่-แม่สาย เชียงใหม่-น่าน เป็นต้น” 

 นายสมชายย้ำอีกว่า ยังมีมาตรการความสะอาดเพื่อสร้างความมั่นใจ ทั้งใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทุกเที่ยว ตรวจไข้พนักงาน ปฎิบัติตามมาตรการควบคุมของทางการอย่างเคร่งครัด พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ เช่น หลอดไฟยูวีอบฆ่าเชื้อในรถ มีฟิลเตอร์กรองเครื่องปรับอากาศ แจกทิชชูเปียกแอลกอฮอล์ 70% ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ตามวิถี “นิว นอร์มอล” 

ที่กลับมาเปิดให้บริการยังขาดทุนทุกเที่ยว แต่ที่ยังวิ่งเพื่อจะให้บริการขนส่งที่ปลอดภัยกับลูกค้า เป็นการสนองนโยบายรัฐในการป้องกันการแพร่เชื้อ และทำให้พนักงานกลับมามีงาน มีรายได้ไปเลี้ยงครอบครัว ถึงขาดทุนก็นึกเสียว่าเป็นการทำ CSR เช่น ในเส้นทางภาคเหนือเชียงใหม่-น่าน ถ้าคนจำเป็นต้องเดินทาง ญาติไม่สบายเข้าโรงพยาบาลเชียงใหม่ ถ้าต้องใช้รถส่วนตัวต้องมีค่าใช้จ่ายเดินทาง 3,000-4,000 บาท แต่ถ้ามีรถโดยสารเสียค่าตั๋วเพียงหลักร้อยบาท ต่างกันเป็น 10 เท่า 

นายสมชายเสนอว่า แนวทางฟื้นเศรษฐกิจให้เกิน 50 % คือ รัฐต้องอุดหนุนส่วนที่ต้องเว้นระยะห่างเพื่อให้ธุรกิจเดินได้ เช่น เดิมเที่ยวเกาะ 10,000 คน ต่อไปให้ได้แค่ 5,000 คน ถ้ามีวิธีจัดการอาจเพิ่มเป็น 7,000 คน อาจต้องให้ 5,000 คน หรือ 7,000 คนจ่ายเท่ากับ 10,000 คนเดิม หรือกรณีใช้บริการรถโดยสารอาจจัดเป็นเที่ยวปลอดเชื้อโรค ผู้โดยสารทุกคนมีใบรับรองแพทย์ว่าปลอดเชื้อ เพื่อให้จัดนั่งได้ทุกเก้าอี้ เช่นเดียวกับกรณีไปรับพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมที่หนองคายมาเชียงใหม่ พนักงานทุกคนตรวจเชื้อสาธารณสุขออกใบรับรองให้ก่อนเดินทาง 1 วัน สามารถจัดให้นั่งได้ทั้ง 35 คนในรถคันเดียว เป็นต้น

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อสรุปมาตรการเยียวยา เนื่องจากมีผู้ประกอบการเดินรถยื่นคำขอเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่พบว่ามีรายใดร้องขอปรับค่าโดยสาร ส่วนบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ยังไม่พบการขอยื่นเยียวยาเนื่องจากเขาเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณา มีทั้งรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า ฯลฯ

ข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: