หมอสุภัทรข้องใจ รัฐบาลกู้เงิน 1ล้านล้าน จัดสรรให้รพ.ทั่วประเทศแค่2,500ล้าน





วันที่ 3 มิถุนายน นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และรองประธานชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้ โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า คาดหวังและความวืดของโรงพยาบาลต่างๆจากเงินกู้โควิด

สถานการณ์โควิดทำให้รัฐบาลตัดสินใจกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อมากู้ภัยโควิด ซึ่งเป็นยอดตัวเลขเงินกู้ที่น่าตกใจไม่น้อย เพราะย่อมเป็นภาระดอกเบี้ยในอนาคต

แต่เมื่อรัฐบาตัดสินใจเดินหน้ากู้เงินแน่นอนแล้ว โรงพยาบาลต่างๆก็เริ่มมีความฝัน เพราะที่ผ่านมา ความสำเร็จในการสู้ภัยโควิดนั้น เราชนะได้ด้วยความไม่พร้อมของทั้งอาวุธและป้อมปราการ คือมีเครื่องมือแพทย์ไม่พอและมีสถานที่ของโรงพยาบาลที่ไม่เหมาะสมสำหรับการรับการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ แต่เราชนะมาได้ด้วยการเอาแรงกายแรงใจและความอึดเข้าแลก รวมทั้งการสนับสนุนด้วยเงินบริจาคและสิ่งของบริจาคจากพี่น้องประชาชนที่สามารถเอาไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้บางส่วน

ความฝันของทุกโรงพยาบาลนั้นมีอยู่ประมาณ 3 ประการ หากได้รับการสนับสนุนงบเงินกู้มา

1. ทุกโรงพยาบาลต้องการการปรับปรุงอาคารและระบบระบายอากาศของอาคารและห้องต่างๆที่ใช้จัดบริการผู้ป่วย เช่นห้องตรวจโรคทางเดินหายใจ ห้องแยกโรคแผนกฉุกเฉิน หอผู้ป่วย ผ่าตัด ทันตกรรม ห้องคลอด ห้องตรวจโรคทั่วไป เพื่อลดการติดเชื้อในโรงพยาบาล รวมทั้งการจัดการพื้นที่บริการเพื่อลดความแออัด ให้เกิดขึ้นอย่างถาวรในการจัดบริการวิถีใหม่ ที่เป็นการถาวร ไม่ได้ทำแบบชั่วคราวเช่นในปัจจุบัน

2. ทุกโรงพยาบาลต้องการเครื่องมือครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เพียงพอ ด้านการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค รักษาพยาบาล การดูแลผู้ป่วยติดเชื้อทุกประเภทในอนาคต รองรับการระบาดของโรค ลดการสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ ติดตามอาการ ช่วยชีวิตผู้ป่วย มีเครื่องมือเพียงพอ ทนแทนที่ชำรุดใช้งานมานาน เพราะงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปกติที่ทุกโรงพยาบาลได้รับจัดสรรทุกปีนั้น สนับสนุนด้านการรักษาพยาบาลเป็นหลัก งบลงทุนปกติแต่ละปีก็มีเพียงน้อยนิด เคยลงทุนเงินกู้ไทยเข้มแข็งเกือบ10ปีที่ผ่านมา เครื่องมือเหล่านั้นก็เสื่อมสภาพไปแล้ว โรงพยาบาลส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการพัฒนาไปข้างหน้า ทันต่อสถานการณ์ เทคโนโลยี่ที่เปลี่ยนไป มานับสิบปีแล้ว

3. ทุกโรงพยาบาลและ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ต้องการเงินงบประมาณที่มารองรับการจัดบริการเฝ้าระวังโรค สอบสวนโรค การกักตัว การส่งต่อ เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันทุกระดับ เพื่อจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีราคาสูงขึ้น จากราคาที่เคยซื้อเมื่ออดีตก่อนโควิดระบาด เป็นต้นทุนการจัดบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในหลายรูปแบบ ที่ยังไม่ทราบว่า จะชดเชยได้จากทางใด เพราะปกติงบรายหัวค่ารักษาพยาบาลก็ต่ำมากอยู่แล้ว

ความฝันทั้งสามประการนี้ จะไม่ได้เป็นประโยชน์เพียงการสู้ภัยโควิดเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ในการยกระดับมาตรฐานทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพประชาชนในภาวะวิกฤติในระยะยาวได้ด้วย

คำถามใหญ่ในขณะนี้ การบริหารจัดสรรงบเงินกู้ 45,000 ล้านบาทโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น จะสามารถตอบสนองความฝันของเหล่านักรบเสื้อกาวน์ในทุกระดับสถานบริการได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเห็นแว่วๆมาว่าจัดสรรงบให้หน่วยบริการทุกระดับ ในกระทรวงสาธารณสุขกว่า1,000 แห่ง เพียง 2,500 ล้านบาทจาก 45,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง

กู้มา 1 ล้านล้านบาท แต่จัดสรรให้โรงพยาบาลต่างๆทุกระดับรวมกัน 2,500 ล้านบาท หรือ 0.25%ของเงินที่กู้มา เช่นนี้แล้ว คืนเถอะครับเงินกู้ อย่าอ้างโควิดมาให้ภาระของอนาคตในการจ่ายคืนเงินกู้

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: