บิ๊กตู่แจงเหตุผลที่ยังมีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เกี่ยวการเมือง ยืนยันจะใช้เงินกู้ทุกบาทให้คุ้มค่า





เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกฯไม่ได้แถลงข่าวหลังการประชุมครม. วันนี้ เนื่องจากช่วงเวลา 16.00 น. ท่านจะต้องอัดเทปถวายพระพร และท่านต้องใช้เวลาช่วงที่เหลือนี้เตรียมความพร้อมสำหรับการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 4 ฉบับในวันพรุ่งนี้ (27 พฤษภาคม) เนื่องจากมีข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งท่านจะเดินทางไปสภาด้วยตัวเอง พร้อมกับคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม มีคำถามจากสื่อมวลชนที่นายกฯฝากมา คือ เรื่องที่ถามว่า นายกฯห่วงเรื่องพ.ร.ก.เงินกู้ที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่า จะเอาไปใช้ในลักษณะต่างๆอย่างไร ท่านก็ฝากตอบว่า เรื่องการใช้เงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น นายกฯได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าต้องนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง โครงการที่เสนอมาต้องมีแผนงานอย่างชัดเจน ต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองทำหน้าที่พิจารณา และมีระบบตรวจสอบอีกหลายส่วน รวมถึงภาคประชาชนที่สามารถร่วมกันตรวจสอบการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนี้ได้ด้วย ซึ่งรัฐบาลจะนำทุกโครงการเข้าสู่ระบบอิเล็กโทรนิกส์เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยดูรายละเอียดโครงการต่างๆ รัฐบาลขอยืนยันว่า ว่าจะใช้เงินกู้ทุกบาท ทุกสตางค์ให้คุ้มค่า ให้มีประสิทธิภาพ และช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมมากที่สุด เท่าที่จะทำได้

นางนฤมล กล่าวต่อว่า คำถามต่อมาที่ถามนายกฯว่า ขณะนี้มีบางฝ่ายยื่นหนังสือคัดค้านการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น นายกฯฝากกราบเรียนพี่น้องประชาชนว่า ตั้งแต่เริ่มนำพ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้ จนถึงการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินทุกครั้ง ได้คำนึงถึงเหตุผลด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ไม่เคยคำนึงถึงเหตุผลทางการเมือง พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังมีความจำเป็นในการบูรณาการการทำงานร่วมกันให้เป็นเอกภาพ มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในช่วงที่มีสถานการณ์แบบนี้ เราไม่สามารถใช้เพียงพ.ร.บ.โรคติดต่อมาเป็นเครื่องมือเดียวในการแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ เรากำลังจะเข้าสู่การผ่อนปรนในระยะที่ 3 และ 4 วึ่งจะมีความเสี่ยงสูงในการแพร่ระบาดของโรค รัฐบาลจำเป็นต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล และควบคุมสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี รัฐบาลทราบดีว่าการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนบ้าง เราจึงค่อยๆผ่อนคลายข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้ผลกระทบนั้น เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างน้อยที่สุด และอยากให้ประชาชนเข้าใจถึงความหมาย และความตั้งใจของนายกฯ รัฐบาล และศบค. ว่าจะทำอย่างไรให้สถานการณ์คลี่คลายได้โดยเร็ว และดีที่สุด อยากให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคให้มากที่สุด และกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ไม่กลับไปสู่การแพร่ระบาดระรอกที่ 2 และอาจจะกลับไปใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว แต่เราจะใช้วิถีชีวิตแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า new normal ที่ทุกคนจะต้องมีความสุขในที่สุด

นางนฤมล กล่าวว่า มีคำถามถึงนายกฯอีกว่า ภาคเอกชนครอบคลุมทุกกลุ่มแล้วหรือยัง แล้วแนวทางต่อไปของรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร นายกฯฝากคำตอบมาว่า ท่านได้เดินสายรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากสมาคม และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ท่านเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้รับฟังจากข้อมูล แนวคิด อุปสรรค และปัญหาที่มาจากต้นทางจริงๆ ซึ่งได้นำข้อมูลจากการลงพื้นที่และการพบปะหารือเหล่านี้มาจัดทำแผนวิเคราะห์เชิงลึกมากขึ้น บางอย่างก็ทำให้เกิดเป็นไอเดียแลกเปลี่ยนกันไปมาระหว่างนายกฯ กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ หากมีโอกาสท่านอาจจะลงพื้นที่ในส่วนอื่นเพิ่มเติมอีก เพราะมีอีกกหลายกลุ่มที่ท่านอยากเข้าไปพบ และทำงานเชิงรุกกับภาคเอกชน

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: