รัฐเล็งใช้เงินกู้4แสนล้าน จัด“ไทยเที่ยวไทย” ฟื้นเศรษฐกิจปลายปี





สภาพัฒน์ เผยกรอบนโยบายเงินกู้ 4 แสนล้าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจบโควิด-19 ขีดเส้นหน่วยงานเสนอโครงการถึง 5 มิ.ย. พร้อมชง ครม. 7 ก.ค.63 ชี้รัฐเล็งจัดแพ็กเกจ “ไทยเที่ยวไทย” จ่ายค่าที่พักให้ 50% กระตุ้นท่องเที่ยว

รายงานข่าววันที่ 25 พ.ค.63 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ (สศช.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 5 มิ.ย.63 จะเปิดให้หน่วยงานราชการนำเสนอแผนโครงการฟื้นฟูวงเงินรวม 400,000 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้พิจารณาภายในวันที่ 2 กรกฎาคม และนำเสนอ ครม.วันที่ 7 กรกฎาคม 2563 หลังจากนั้นจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ทันที ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563

สำหรับกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศใน จะนำเม็ดเงินบางส่วนไปกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลอาจจะมีโครงการ “ไทยเที่ยวไทย” เพื่อช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ โดยอาจจะมีการสนับสนุนแจกคูปองให้ลดราคาค่าที่พักให้ 40-50% เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่มีรายได้ออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทาง

นอกจากนี้ จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งจะพยายามเน้นสร้างอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืน ในภาคของการส่งออก เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะไปสอดรับกับแรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งจะเข้าไปช่วย สร้างงาน สร้างรายได้ระดับชุมชน ซึ่งจะเน้นการเกษตรยกระดับการผลิต และการท่องเที่ยวชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน และส่งเสริมการตลาด คาดว่าแนวทางนี้จะใช้งบประมาณประมาณ 50% หรือประมาณ 200,000 ล้านบาทจากงบประมาณทั้งหมด ทั้งนี้ จะการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนกระบวนการผลิต

ทั้งนี้ แต่ละโครงการจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 พร้อมยืนยันไม่มีการจัดสรรโควตาสัดส่วนงบประมาณให้แต่ละกระทรวง โดยจะเน้นจัดสรรงบให้โครงการที่เสนอมาตามแนวทางดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้งบทั้งหมด 400,000 ล้านบาท ส่วนกระบวนการเบิกจ่ายเงินแต่ละโครงการจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงคลังอีกครั้ง เพื่อลดขั้นตอนการเบิกจ่าย พร้อมย้ำทุกโครงการจะทำอย่างโปร่งใสสามารถตรวจสอบรายละเอียดการเบิกจ่ายได้

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: