อดีตประธานสหภาพ แนะ การบินไทย คืนเครื่องเช่าลดหนี้ 1.08แสนล้าน





วันที่ 23 พ.ค. นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เปิดเผยถึงข้อเสนอแนะและแนวทางการเร่งลดภาระหนี้สินให้กับการบินไทยว่า ทางออกหนึ่งที่จะช่วยลดภาระหนี้การบินไทยได้จริงคือการคืนเครื่องบินที่อยู่ในสัญญาเช่าดำเนินการ (Operating Lease) ที่ครบหรือใกล้ครบสัญญาที่จะต้องคืนเครื่องให้ผู้ให้เช่า (Lessor) โดยเลือกคืนตามความเหมาะสมและให้สอดคล้องกับโครงข่ายการบินที่การบินไทยจะมีการปรับลดเส้นทางหลังปัญหาโควิด-19 ยุติลงซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ได้มาก

นายนเรศ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญจะทำให้แผนฟื้นฟูการบินไทยภายใต้ศาลล้มละลายสามารถเดินหน้าได้จริงด้วย รวมทั้งยังป้องกันปัญหาเจ้าหนี้ตามยึดเครื่องบินที่สนามบินอีกด้วย ทั้งนี้ยืนยันว่าการคืนเครื่องเช่าครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการการบินของการบินไทย เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยมีฝูงบินเป็นของตัวเองราวกว่า 40 ลำ เพียงพอที่จะให้บริการการบินในเส้นทางต่างๆได้แม้ว่าจะต้องคืนเครื่องเช่าบางส่วน เพราะปัจจุบันผู้โดยสารมีแนวโน้มลดลงหลังจากโลกประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส-โควิด

นายนเรศ กล่าวอีกว่า สำหรับภาระหนี้ค่าเช่าเครื่องบินของการบินไทยปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบตามประเภทสัญญาจัดหา คือ 1.สัญญาเช่าการเงิน (Financial Leasec) คือการเช่าซื้อเมื่อการบินไทยชำระหนี้หมดเครื่องจะตกเป็นทรัพย์สินของการบินไทย และ 2.สัญญาเช่าดำเนินการ (Operating Lease) คือการเช่าเครื่องบินมาใช้งานเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าการบินไทยจะต้องส่งคืนเครื่องบินแก่ผู้ให้เช่า

นายนเรศ กล่าวว่า โดยในส่วนของเครื่องบินเช่าดำเนินการนั้น ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 การบินไทยได้ลงนามในสัญญาเช่าดำเนินการเครื่องบินจำนวน รวมทั้งสิ้น 42 ลำ มีภาระผูกพันต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องบินตามัสญญาเป็นเงินทั้งสิ้น 3,587.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 108,818.64 ล้านบาท ประกอบด้วยเครื่องบิน A320-200 จำนวน 15 ลำ, A350 -900 จำนวน 8ลำ, B777-300ER จำนวน 11 ลำ, B787-8จำนวน6ลำ และ B787-9 จำนวน จำนวน 2 ลำ โดยมีเครื่องที่รับมอบมาแล้ว 39 ลำ และมีเครื่องที่ยังไม่ถึงกำหนดรับมอบ 3 ลำ

ทั้งนี้ มีเครื่องบินครบกำหนดสัญญาเช่าดำเนินงานในปี 2563-2567 จำนวน 6 ลำ และครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาเช่าในปี 2568-2573 จำนวน 36 ลำ ส่วนภาระผูกพันหนี้ค่าเช่าเครื่องบินทั้ง 42 ลำ สำหรับระยะเวลาแต่ละช่วงมีดังนี้ ภาระผูกพันค่าเช่าภายใน1ปี จำนวน 13,418.27 ล้านบาท ภายใน 5 ปี จำนวน 56,815.80 ล้านบาท และเกิน 5 ปี จำนวน 38,584.57 ล้านบาท

รายงานข่าวจากบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) แจ้งว่า สำหรับขบวนการจัดหาเครื่องบินของการบินไทยที่ผ่านมาไม่ได้ใช้รูปแบบการเช่าหรือเช่าซื้อตรงจากผู้ผลิตคือแอร์บัส และโบอิ้ง แต่เป็นการเช่าหรือเช่าซื้อผ่านผู้ให้เช่า (Lessor) ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าหนี้การบินไทยที่สามารถทวงหนี้ หรือดำเนินการยึดเครื่องบินได้หากการบินไทยผิดนัดชำระหนี้คือบริษัทผู้ให้เช่า

ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ตพบว่า ผู้ให้เช่าเครื่องบินซึ่งเป็นคู่ค้าของการบินไทยจำนวนมากมีชื่อปรากฏจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอยู่ในหมู่เกาะเคย์แมน อาทิ บริษัท Supanniga Hire Purchase Limited ผู้ให้เช่าเครื่องบิน A320-200 จำนวน 2 ลำ สัญญาระหว่างปี ค.ศ.2015-2027, บริษัท Ratchaprarop Hire Purchase LLCA ผู้ให้เช่าเครื่องบิน A320-200 จำนวน 2 ลำ สัญญาระหว่างปี ค.ศ. 2014-2026,

บริษัท Pasak Leasing LTD ผู้ให้เช่าเครื่องบิน A330-300 จำนวน 6ลำ สัญญาระหว่างปี ค.ศ.2009-2020, บริษัทVibhavadi Hire Purchase Limited ผู้ให้เช่าเครื่องบิน A350-900 จำนวน 1 ลำ สัญญาระหว่างปี ค.ศ.2017-2029, บริษัท KHIRI RAJ Hire Purchase Limited ผู้ให้เช่าเครื่องบิน A380-800 จำนวน 2 ลำ สัญญาระหว่างปี ค.ศ.2012-2024,

บริษัทNaparak Hire Purchase Limited ผู้ให้เช่าเครื่องบิน B777-300ER จำนวน 1 ลำ สัญญาระหว่างปี ค.ศ.2014-2026 ,บริษัท Benjamas Hire Purchase Limited ผู้ให้เช่าเครื่องบิน A330-300 จำนวน 1ลำ สัญญาระหว่างปี ค.ศ.2012-2024 เป็นต้น

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: