ชาวทวิตเตอร์ย้ายมาเข้า minds เหตุกังวลรัฐบาลเข้าถึง “ข้อมูลส่วนตัว”





ชาวทวิตเตอร์ย้ายซบ minds.com หลังทวิตเตอร์ปรับปรุงนโยบายความเป็นส่วนตัว ทำให้ผู้ใช้งานในไทยหลายคนกังวลว่า “ข้อมูลส่วนตัว” ของตนอาจไม่ปลอดภัย

แฮชแท็ก #mindsTH ติด 1 ใน 10 อันดับบนทวิตเตอร์ประเทศไทยวันนี้ (21 พ.ค.) หลังผู้ใช้งานทวิตเตอร์จำนวนมากเขียนข้อความระบุว่าจะย้ายไปใช้บริการของแพลทฟอร์มออนไลน์ “minds” ซึ่งให้ความมั่นใจเรื่องนโยบายความเป็นส่วนตัว

กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นหลังผู้ใช้งานในไทยหลายคน ได้รับข้อความแจ้งเตือนบนทวิตเตอร์ถึงการอัปเดต “นโยบายความเป็นส่วนตัว” ทำให้ผู้ใช้งานบางส่วน มีความกังวลว่า อาจนำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลให้กับ “พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ” ซึ่งหลายคนกังวลว่าอาจรวมถึงรัฐบาลไทย

แอปฯ minds ระบุว่าจำนวนผู้ใช้งานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ขณะที่ “Bill Ottman” ผู้ร่วมก่อตั้ง ได้กล่าวต้อนรับผู้ใช้ชาวไทย “ที่กำลังมองอิสระภาพบนโลกอินเตอร์เน็ต”

สำหรับ minds นั้น ถือเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่เปิดให้บริการครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ปี 2558 โดยลักษณะคล้ายทวิตเตอร์ และมักถูกกล่าวถึงในฐานะแฟลตฟอร์มที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพบนโลกอินเตอร์เน็ต

 

ความเป็นส่วนตัวบนทวิตเตอร์

ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในหลายประเทศรายงานว่า เริ่มเห็นข้อความแจ้งเตือนเกี่ยวกับ “อัพเดตการตั้งค่าแบ่งปันข้อมูล” ซึ่งระบุว่า ทวิตเตอร์ได้ยกเลิกสิทธิของผู้ใช้งานในการควบคุมข้อมูลเกี่ยวกับขนาดโฆษณาบนแอปฯ โทรศัพท์มือถือ แต่ผู้ใช้จะยังสามารถกำหนดได้ว่าจะอนุญาตให้แอปฯ แชร์ข้อมูล “ที่ไม่เป็นสาธารณะ” กับพันธมิตรทางธุรกิจของทวิตเตอร์หรือไม่

โฆษกของทวิตเตอร์ได้ชี้แจงกับเว็บไซต์ Adweek เมื่อเดือนที่แล้วว่า “ทวิตเตอร์แชร์ข้อมูลที่ส่วนตัวของผู้ใช้งานบางอย่างกับผู้ลงโฆษณาที่สร้างแคมเปญโฆษณาผ่านทางทวิตเตอร์ เช่น รูปแบบของโฆษณาที่ผู้ใช้คลิกหรือมองเห็น รวมถึงอุปกรณ์และเบราเซอร์ที่ใช้งาน แต่ไม่รวมถึง ชื่อ อีเมล เบอร์โทรศัพท์ หรือ ชื่อบัญชีผู้ใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น ทวิตเตอร์ อาจแชร์ข้อมูลว่ามือถือรุ่นอะไรเห็นหรือคลิกแอดสำหรับแอปพลิเคชั่นมือถือนั้นๆ”

ทั้งนี้ ทวิตเตอร์ระบุด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะ “จะช่วยให้ทวิตเตอร์สามารถให้บริการฟรีต่อไปได้”

กระแสตีกลับ TwitterThailand

ความกังวลนี้ไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้นวันนี้ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ทวิตเตอร์เปิดตัวบัญชีทางการของ “ทวิตเตอร์ประจำประเทศไทย” หรือ @TwitterThailand แต่ต้องพบกับกระแสตีกลับ

ผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากร่วมเขียนข้อความผ่านแฮชแท็ก #ไม่เอาทวิตเตอร์ไทยแลนด์ ซึ่งพุ่งขึ้นเป็นแฮชแท็กอันดับ 1 โดยส่วนใหญ่แสดงความไม่ต้อนรับและตั้งข้อสงสัยว่า ทวิตเตอร์ประเทศไทยอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสอดส่องพฤติกรรมประชาชนบนโลกออนไลน์ของรัฐบาลไทย

ผู้บริหารทวิตเตอร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า @TwitterThailand เป็นบัญชี สองภาษา เพื่อให้คนไทย พันธมิตร และแบรนด์ต่าง ๆ เชื่อมโยงกับทวิตเตอร์ได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น พร้อมระบุด้วยว่า ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ได้ร่วมมือกับองค์กรเอกชน รวมถึงรัฐบาล และกระทรวงต่างๆ ด้วย

ขณะที่เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า กำลังเร่งหารือผู้บริหารทวิตเตอร์ประจำสิงคโปร์ในเรื่องการรับมือข่าวปลอมเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 และเนื้อหาความรุนแรง เช่น ภาพที่เกิดขึ้นในช่วงโศกนาฏกรรมที่โคราช

เมื่อปี 2559 เกิดกระแสคล้ายกันนี้ เมื่อผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งประกาศลบบัญชีเฟซบุ๊กของตนเองและย้ายไปยังแพลทฟอร์มอื่น เช่น ทวิตเตอร์ หรือ มายด์ส ด้วยความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว หลังจาก เฟซบุ๊ก ได้ปิดการเข้าถึงเพจเฟซบุ๊กชื่อ “กูkult” ในประเทศไทย โดยให้เหตุผลถึงข้อจำกัดทางกฎหมายที่ใช้กับการเข้าถึงเนื้อหาว่า เฟซบุ๊กอาจลบหรือปิดการเข้าถึงเนื้อหาตามคำสั่งของรัฐบาลโดยพิจารณาตามความเหมาะสม ตามรายงานของประชาไท

 
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: