กุมารแพทย์ ชี้เรียนออนไลน์ในเด็กเล็กไม่เหมาะสม ขณะที่บิ๊กตู่แจง แค่ไม่ให้ขาดตอน ไม่ใช่ตลอดไป





วันที่ 18 พ.ค. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาติ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ระบบการเรียนออนไลน์ไม่เพียงเฉพาะในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนจากเดิม แต่ในสภาวะปกติก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น และควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรก คือ จะต้องเข้าใจจิตวิทยาพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยก่อน เพื่อออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสม อีกทั้งต้องเข้าใจศักยภาพของเด็กแต่ละคนว่ามีทั้งเด็กที่เลี้ยงง่าย เลี้ยงยาก เด็กที่ต้องการพื้นที่ในการแสดงออก รวมถึงเด็กที่อ่อนไหว

อย่างเช่นช่วงวัยอนุบาล ปฐมวัย เป็นช่วงวัยที่ไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์ การเรียนรู้ควรมุ่งเน้นผ่านการเล่น และประสาทสัมผัส ส่วนช่วงวัยที่โตขึ้นต่อจากนี้ คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือทางเทคโนโลยีจะเป็นเพียงส่วนมาช่วยเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะและความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ต้องผ่านกระบวนการด้านคุณธรรม ซึ่งก็คือ ความมีวินัยและรับผิดชอบ มีความเข้าใจในสิ่งรอบตัว สังคมรอบข้าง

นอกจากนี้สิ่งที่อยากให้หน่วยงานภาครัฐควรทำคู่ขนานกันไป คือ การยกเลิกแนวคิดเรื่องของระบบแพ้คัดออก เพราะเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับเด็ก แทนที่จะมุ่งเน้นเรื่องระดับคะแนน การตัดเกรด ควรหันมาสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว และสิ่งที่เด็กแต่ละคนสนใจอย่างแท้จริง

ขณะที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวก่อนการประชุม ว่า เรื่องการเรียนออนไลน์ก็มีปัญหา วัตถุประสงค์ คือต้องการเรียนไม่ให้ขาดตอน หลังจากนั้นก็ต้องไปเปิดเรียนมาตรฐาน แต่มีคนไปเข้าใจว่าจะทำแบบนี้ไปตลอดซึ่งไม่ใช่

ข่าวจาก ข่าวช่อง3

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: