ธนาธร กางชาร์ท เผยตัวเลขที่รัฐต้องอุ้ม “การบินไทย” เปิดชัด ต้นทุนพนักงานต่อคนสูงลิ่ว





เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เฟซบุ๊กไลฟ์แสดงความคิดเห็นกรณีแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ค้ำประกันกู้เงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง ใช้ในการดำเนินงานและชำระหนี้ระยะสั้น

โดยนายธนาธร กล่าวในตอนหนึ่งว่า รัฐบาลไม่ได้ใช้เงินแค่ 5 หมื่นล้านบาท แต่หากการบินไทยล้มละลาย เจ้าหนี้จะได้เงินทุกบาทจากรัฐบาล และต่อไปต้องใช้เงินก้อนที่ 2 คือ การเพิ่มทุนปรับปรุงงบการเงินให้แข็งแรง และเดินหน้าธุรกิจระยะยาวอีก 8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1.3 แสนล้านบาท

ซึ่งตนไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลต้องอุ้มการบินไทย เพราะการบินไทยเจ๊งผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย เจ้าหน้าที่เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นตามมาตรการของรัฐบาลนี้ไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ กับผลประกอบการของการบินไทย ไม่ว่า จะขาดทุนเท่าไรก็ตาม แต่ถ้าได้กำไรประชาชนกลับไม่ได้อะไรเลย

นายธนาธร กล่าวว่า ส่วนการประมาณการณ์งบกำไรขาดทุนในแผนฟื้นฟูระหว่างผู้บริหารการบินไทยกับรัฐบาล ที่ประมาณการว่าในปีนี้จะติดลบ 59,000 ล้านบาท แต่ปี 2564 จะกลับมามีกำไร 4,500 ล้านบาท และในปี 2567 จะมีกำไร 13,000 ล้านบาทนั้น

ในฐานะที่ทำธุรกิจ เป็นไปไม่ได้ที่การบินไทยจะลดต้นทุน 42% ภายใน 2 ปี เพราะตนไม่เชื่อมั่นแผนธุรกิจนี้ และผู้ที่ทำแผนธุรกิจนี้รู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ได้ขอเงินแค่ 50,000 ล้านบาท แต่ขอเงินจากรัฐบาลถึง 130,000 ล้านบาท ถ้าเป็นไปตามแผนธุรกิจนี้จริง ไม่จำเป็นที่จะต้องกู้เงินและเพิ่มทุนเช่นนี้ แผนธุรกิจนี้ทำขึ้นมาเพื่อให้สวยหรู สามารถขอเงินกระทรวงการคลังได้

เพื่อที่จะบอกว่าปีต่อไปจะมีกำไร จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การบินไทยไม่สามารถปรับปรุงตัวเองให้กลับมามีกำไรยั่งยืนได้ ในปีที่แล้วขาดทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากจะปรับต้นทุนจาก 200,000 ล้านบาท ให้เหลือ 116,000 ล้านบาท ต้องลดต้นทุนกว่า 40% ภายใน 2 ปี เป็นไปได้ยากมาก

ดังนั้นจึงไม่มีความเชื่อมั่นในแผนธุรกิจฉบับนี้เลย ว่าภายในปีหน้าปีเดียวการท่องเที่ยวจะกลับมา เราจะสามารถลดต้นทุนได้ เราจะขายฝูงบิน (Fleet) ได้ และจะกลับมามีกำไรได้ 4,500 ล้านบาทภายใน 1 ปี

นายธนาธร กล่าวอีกว่า การบินไทยไม่ใช่สายการบินเดียวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ แต่มีสายการบินอื่นอีกด้วย ที่ผ่านมาเงินเดือนและสวัสดิการของการบินไทย สูงกว่าสายการบินอื่นๆ ในเอเชีย แต่ประสิทธิภาพต่อพนักงานหนึ่งคนต่ำ

ค่าเฉลี่ยพนักงาน 1 คนของการบินไทย สร้างยอดขายได้เพียง 8.8 ล้านบาทต่อปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของสายการบินอื่น 11.7 ล้านบาทต่อปี จะเห็นได้ว่าการบินไทยมีต้นทุนต่อพนักงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบิน แต่ขณะเดียวกันมีประสิทธิภาพต่อหัวพนักงานต่ำกว่า

แสดงถึงความล้มเหลวของผู้บริหารและการบริหารองค์กร ที่ไม่สามารถเอาศักยภาพของพนักงานมาแปรเป็นรายได้และกำไรได้ ดังนั้นคงหนีไม่พ้นการปฏิรูปครั้งใหญ่ หากยังเห็นว่าจำเป็นจะต้องมีสายการบินแห่งชาติต่อไป

“เรามีทางเลือก 4 ทาง คือ

1.เปิดเสรีน่านฟ้า รัฐบาลถือหุ้นการบินไทยเหลือ 0% แล้วให้สายการบินทุกแห่งแข่งขันอย่างเสรี
2.เปิดเสรีน่านฟ้า หุ้นการบินไทยที่รัฐบาลถือต้องไม่เกิน 25% แต่ให้กลไกตลาดมีอำนาจพอที่จะกำกับการบินไทย
3.ทำแบบปัจจุบัน ที่รัฐบาลถือหุ้นมากกว่า 51%
4.รัฐบาลถือหุ้นการบินไทย 100% แต่ปัจจุบันมีหนทางคือ 1.ปล่อยการบินไทยล้มละลายไปเลย รัฐบาลไม่เข้าไปยุ่ง ให้กลไกตลาดเป็นตัวจัดการ ถ้ามีคนสนใจ ผู้ซื้อรายใหม่จะไปดำเนินการต่อเอง
2.การเข้าไปช่วยการบินไทยปล่อยกู้ในระยะสั้นเพื่อนำไปสู่การขาย หรือล้มละลายอย่างมีการจัดการ (Bridge Loan) 3.ยึดการบินไทยกลับมาเป็นของรัฐ (Nationalization) ตัดผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ออกให้หมด ซึ่งจะไปสู่จุดจบแบบไหนก็ได้” นายธนาธร ชี้แนวทาง

นายธนาธร ยังกล่าวอีกว่า หากปล่อยให้ล้มละลาย จำเป็นจะต้องนำมาสู่การเปิดน่านฟ้าเสรี เพราะการบินไทยได้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยไม่ได้เปิดเสรีน่านฟ้า ใครอยากจะบินเส้นทางไหนก็บินได้ ค่าสัมปทานเส้นทางต้องเท่ากันทุกสายการบิน

ซึ่งมีหลักการของการเท่าเทียมของการแข่งขัน รัฐบาลห้ามช่วยสายการบินแห่งชาติของตัวเองเป็นพิเศษ ทุกสายการบินจะต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน การบินไทยได้รับประโยชน์จากการไม่เปิดเสรีทางการบิน ผูกขาดเส้นทางการบินในเมืองที่มีกำไรได้ การเปิดเสรีน่านฟ้าทำให้เกิดการแข่งขัน ประชาชนได้ประโยชน์

ทีนี้ถ้าให้เงินกู้ 50,000 ล้านบาท เอาไปปล่อยกู้แล้วเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยไม่ต้องเพิ่มทุน 80,000 ล้านบาท ให้เงินกู้เพื่อนำไปสู่การขายกิจการ รัฐบาลจะได้คืนโดยผู้ซื้อรายใหม่ อาจนำไปสู่การเปิดเสรีน่านฟ้าทั้งแบบ 100% หรือรัฐบาลถือหุ้นไม่เกิน 25% โดยนำการบินไทยไปประมูลเพื่อนำเงินคืนรัฐบาล

นายธนาธร ระบุว่า การยึดกิจการกลับมาเป็นของรัฐ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2551-2553 จากสหรัฐอเมริกาลามมาถึงยุโรป สายการบินที่ล้มละลายคือ เจแปนแอร์ไลน์ สายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่น รัฐบาลไม่ให้เงินช่วย แต่เข้าไปยึดกลับมาเป็นของรัฐ เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นเป็นศูนย์ เมื่อทำกำไรได้ 4-5 ปี กลับไปขายในตลาดโดยรัฐบาลขายหุ้นจนเหลือ 0%

ถ้าเดินเส้นทางนี้อาจเข้าสู่การฟื้นฟูและปรับปรุงกิจการ แล้วนำไปสู่ทางใดก็ได้ ผมเห็นว่าถ้ารัฐบาลเลือกใช้วิธีถือหุ้น 51% และแบบถือหุ้น 100% ย่อมเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลอุ้มการบินไทยมาแล้วหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าการบินไทยไม่ปรับปรุงตัวเองให้แข่งขันกับตลาด และมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนได้ ถ้าจะเหลือทางเลือกคือ ควรถือหุ้นรายย่อย

ถ้าเห็นว่าการบินไทยมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ แล้วปล่อยให้ตลาดกำกับดูแลการบินไทยได้จริง ปราศจากอิทธิพลการครอบงำของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ใช้ทรัพย์สินของการบินไทย โดยไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง

นายธนาธร กล่าวว่า ผู้ซื้อกิจการการบินไทย ที่มีศักยภาพในไทยมีเพียงแค่ 5 เจ้า ได้แก่ กลุ่มซีพี กลุ่มเบียร์ช้าง กลุ่มบีทีเอส กลุ่มกัลพ์ และกลุ่มคิง เพาเวอร์ ซึ่งมีธุรกิจบางอย่าง หรือผลประโยชน์บางอย่างที่สามารถใช้ประโยชน์จากการบินไทยได้

ส่วนต่างชาติแคนดิเดตที่เป็นไปได้ คือสายการบินจากประเทศจีน เนื่องจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลจีนมีความใกล้ชิดกันสูง และครอบงำธุรกิจด้านต่างๆ ในประเทศไทย นอกจากนี้ในเชิงยุทธศาสตร์ สายการบินอื่นที่ทำให้การบินไทยอยู่ในกลุ่มบริษัทสายการบิน ที่มีส่วนแบ่งการตลาดในตลาดโลกสูง

แต่ตัวเลือกนี้ก็ลำบาก เพราะสายการบินใหญ่ๆ ทั่วโลกล้วนแต่ประสบปัญหาความลำบากในช่วงนี้ ดังนั้นโอกาสที่สายการบินใหญ่ๆ จะมีศักยภาพเข้ามาซื้อกิจการการบินไทยในช่วงนี้มีน้อยมาก กลุ่มสุดท้ายคือกองทุนจากภาคการเงิน ทั้ง Private equity หรือ Hedge Fund เข้ามาซื้อกิจการที่มีปัญหาและฟื้นฟูกิจการเพื่อขายในตลาดเอากำไร

นายธนาธร กล่าวว่า หากจะต้องปล่อยให้ล้มละลาย หรือปล่อยกู้ระยะสั้นเพื่อขาย จะมีการเรียกร้องให้เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น รวมถึงผู้บริหาร พนักงาน และสหภาพแรงงาน มารับผิดชอบร่วมกันในการฟื้นฟูกิจการ อนาคตที่การบินไทยจะต้องเพิ่มทุน ต้องไม่มาจากภาษีประชาชนอย่างเดียว เจ้าหนี้อาจแปลงหนี้เป็นทุนหรือลดหนี้

ส่วนผู้ถือหุ้นก็ต้องลดหุ้นตัวเองลงเพื่อให้บริษัทไปต่อได้ ทุกคนหาทางออกร่วมกันและเจ็บร่วมกัน ปัจจุบันเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นของการบินไทย พบว่ากระทรวงการคลังถือหุ้น 51% รองลงมาคือกองทุนรวมวายุภักดิ์ นอกนั้นเป็นบริษัทเอกชนทั้งหมด ถ้ารัฐบาลอุ้มการบินไทย คนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มที่ไม่ต้องรับผิดชอบกับสถานการณ์ของการบินไทย

ถ้าไม่ลดทุนของพวกเขาลง แต่ถ้าการบินไทยมีกำไรก็ได้ดอกผลจากรัฐบาล ไม่ต้องลงขันยามที่เจ็บปวด เจ้าหนี้พบว่ามีทั้งกระทรวงการคลังและธนาคาร ถ้าไม่ปรับโครงสร้างหนี้ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ซึ่งหนี้การบินไทยมีหลายประเภท มากที่สุดคือค่าเช่าเครื่องบิน (Leasing) หลายประเทศยังให้หยุดจ่าย

แต่ข้อเสนอของรัฐบาลไม่มีที่ไหนพูดถึงการร่วมรับผิดชอบของเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น ไม่มีที่ไหนที่จะปลดกรรมการบริษัท (บอร์ด) และผู้บริหารออกทั้งหมด โดยปกติในบริษัทส่วนใหญ่เมื่อจะต้องไปขอกู้เงินรัฐบาลขนาดนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องปลดบอร์ดและผู้บริหารระดับสูงออกให้หมด

การผลักภาระทุกอย่างมาอยู่ที่ภาษีประชาชนโดยที่คนกลุ่มอื่นไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เลย ท้ายที่สุดประชาชนผู้เสียภาษีรับผิดชอบการบินไทยฝ่ายเดียว สิ่งที่ทำให้ตนรู้สึกแย่มาก คือทุนของการบินไทยไม่ว่าจะเกิดโควิดหรือไม่ ทุนก็เหลือน้อยอยู่แล้ว ปีนี้หากขาดทุนเท่าเดิมก็ล้มละลายอยู่ดี

 

 

เพียงแต่สถานการณ์ทำให้การล้มละลายเร็วกว่าเดิม แต่สิ่งที่ผู้บริหารไม่รู้สึกกับอนาคตของตัวเอง มีความพยายามซื้อฝูงบินใหม่ 38 ลำ ในช่วงเดือน มี.ค. 2562 หลังการเลือกตั้ง อาศัยช่วงสูญญากาศที่ยังไม่มีรัฐบาล นึกไม่ออกว่าถ้าไม่ออกมายับยั้งการซื้อฝูงบินจะเกิดอะไรขึ้น ในภาวะที่การบินไทยจะล้มละลายอยู่แล้ว

“ในภาวะแบบนี้ถ้ารัฐบาลถือหุ้นใหญ่ก็จะกลับไปสู่แบบเดิม วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การเปิดเสรีน่านฟ้า และให้รัฐบาลไม่ต้องถือหุ้น หรือถือหุ้นน้อยกว่า 25% และใช้ต่อเมื่อมีวิกฤตและความจำเป็น เป็นทางเลือกที่ดีกว่าข้อเสนอของรัฐบาลในปัจจุบันนี้

เพราะเมื่อเจ๊งประชาชนรับ แต่กำไรผู้ถือหุ้นเอาไป ไม่มีความยุติธรรมกับประชาชน ยืนยันว่ารัฐบาลมีทางเลือกอื่นที่ประชาชนไม่ต้องรับต้นทุนทั้งหมดของการอุ้มการบินไทย ในขณะที่ถ้าจะเลือกให้รัฐบาลถือหุ้นต่อไป เลือกที่จะถือหุ้นที่เล็ก น้อยกว่า 25% เพื่อนำไปสู่การเปิดเสรีน่านฟ้า

ผมเชื่อว่าเงิน 130,000 ล้านบาทเป็นเงินจำนวนที่เยอะ ประเทศไทยมีงบประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 3-4% ของงบประมาณประเทศต่อปี เรากำลังบอกว่า เราจะใช้เงินก้อนนี้ไปอุ้มการบินไทย โดยที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนอื่นไม่ต้องรับผิดชอบเลย ผมไม่เห็นด้วย และผมเชื่อว่าเรามีทางเลือกที่ดีกว่านี้” นายธนาธร ย้ำ

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์, คณะก้าวหน้า – Progressive Movement

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: