ประกันสังคมชี้แจง ปมไม่จ่ายว่างงาน75% ชี้เสี่ยงกองทุน1.6ล้านเกลี้ยง





เปิดเหตุผล 3 ข้อ บอร์ดประกันสังคม คัดค้านเอกฉันท์ไม่จ่ายชดเชยว่างงานสุดวิสัย 75 % เสี่ยงกองทุน 1.6 ล้านเกลี้ยง เผยข้อเสนอให้สำนักงานประกันสังคมเป็น “องค์กรอิสระ” 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะกรรมการประกันสังคม ที่ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และฝ่ายราชการ “มีมติเป็นเอกฉันท์ คัดค้าน” การจ่ายเงินชดเชยผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบและเป็นเหตุสุดวิสัยเพิ่มจาก 62% เป็น 75% ของค่าจ้างรายวัน โดยไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน พร้อมกับเสนอให้ขยายเวลาชดเชยจาก 3 เดือน เป็นยาวถึงสิ้นปี และ 2.การปรับลดส่งเงินสมทบของนายจ้างเหลือเพียง 1% จากเดิมที่ 4%

ในการประชุมบอร์ดประกันสังคมครั้งล่าสุด (7 พ.ค. 63) มติบอร์ด ให้เหตุผลประกอบว่า 1.เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะมีผู้ตกงานตามมาอีกเป็นจำนวนมาก 2.กังวลว่าเงินใน “กองทุนว่างงาน” จะถูกใช้จนหมด โดยที่ไม่มีแผนสำรองว่าจะบริหารจัดงานอย่างไร และ 3. จะมีผู้ตกงานจากส่วนที่เป็นสัญญาจ้าง (subcontract) จากรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งหากนำเงินจากกองทุนว่างงานที่มีอยู่ 1.6 แสนล้านบาท มาใช้โดยไม่จำเป็น ในอนาคตจะบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนในอนาคตอย่างไร

“ที่ผ่านมา กลุ่มสมาพันธ์ลูกจ้างต่าง ๆ ได้นำเสนอให้ใช้เงินจากกองทุนว่างงานเพียง 50% เท่านั้น ซึ่งที่ประชุมบอร์ดก็คุยกันตัวเลขนี้ แต่ในการประชุมบอร์ดครั้งก่อนก็เสนอตัวเลข 62% เข้ามาพิจารณาและอนุมัติเพื่อชดเชยให้กับ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจที่ภาครัฐสั่งปิดกิจการ และนายจ้างที่ปิดกิจการเองชั่วคราว และเมื่อ ครม.ขยายมาตรการเยียวยาโดยให้โควิด-19 เป็นเหตุสุดวิสัยนั้น ทำให้ต้องมีการใช้เงินมากขึ้น อีกทั้งเชื่อว่าเงินกองทุนว่างงานนี้จะต้องถูกใช้จนหมดแน่นอน”

การอภิปรายในบอร์ดระบุว่า สถานการณ์และการระบาดของโควิด-19 จะยังส่งผลกระทบไปจนถึงสิ้นปี อีกทั้งจะมีผู้ประกันตนได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอีกมาก ฉะนั้นต้องยอมรับว่า ทั้งในกลุ่มลูกจ้างด้วยกันก็มีความเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือลูกจ้าง ผู้ซึ่งทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการ ที่มีทั้งการปิดกิจการแบบถาวร หรือปิดชั่วคราว จะค่อนข้างได้รับผลกระทบอย่างหนัก และต้องการความช่วยเหลือที่รวดเร็ว หรือแม้แต่ภายในบอร์ดประกันสังคมเองก็ตาม ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในการแก้ปัญหาครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมจะมีมติไม่อนุมัติให้เพิ่มเงินชดเชยให้กับผู้ประกันตน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ยังสามารถนำเรื่องดังกล่าวเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ เพราะตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของบอร์ดประกันสังคมเป็นผู้ให้คำปรึกษา ตั้งข้อสังเกตได้เพียงเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอให้สำนักงานประกันสังคม ควรเป็น “องค์กรอิสระ” เพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: