ศธ.พร้อมเปิดเทอม1ก.ค. ยัน 16มิ.ย.ทุกคนมีที่เรียน ชี้ภาคเรียนนี้ปิดเทอม54วัน





เมื่อวันที่ 9 พ.ค. เวลา 12.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้ ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทางกระทรวงมีแนวทางจัดการเรียนการสอนทุกระดับชั้นการศึกษา ไม่ว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวะศึกษา การศึกษานอกระบบ การศึกษาให้คนพิการและด้อยโอกาส

กระทรวงจะต้องจัดการเรียนการสอนให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่สภาพแวดล้อมจะอำนวยได้ บนพื้นฐาน 6 ข้อ คือ

1.การจัดการเรียนการสอนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การเปิดเทอม 1 ก.ค.นี้ เปิดแน่นอน ไม่ว่าจะต้องเรียนที่บ้านหรือไปเรียนที่โรงเรียน การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับผลการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

2.อำนวยการให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอบได้ แม้จะไม่สามารถไปโรงเรียนได้

3.ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย กสทช. จัดสรรช่องดิจิตอลทีวีให้ 17 ช่อง เพื่อใช้ในการเรียนการสอบ ถ้าวันที่ 1 ก.ค.ยังไม่พร้อมก็สามารถศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้ โดยเป็นช่องการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่อนุบาล–ม.6 จำนวน 15 ช่อง และอาชีวะ 1 ช่อง กศน. 1 ช่อง ดังนั้นทุกระดับชั้นสามารถเรียนได้

4.การตัดสินใจนโยบายต่างๆ บนพื้นฐานสำรวจความต้องการทั้งจากนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและโรงเรียน โดยให้จัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นที่ตั้ง โดยกระทรวงฯ จะสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

5.ปรับปฏิทินการศึกษาเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนของเด็กมากขึ้น โดยมีการปรับตารางเรียนตามความเหมาะสม เวลาชดเชยก็จะคำนึงถึงภาระของทุกคน และการได้รับความรู้ครบตามช่วงวัยของเด็ก และ

 

6.บุคคลากรทางการศึกษาทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้น้อยที่สุด

โดยรมว.ศึกษาฯ ย้ำว่าการเลื่อนเปิดเทอมถือเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้า แต่ในอีกมุมหนึ่งต้องถือว่าวิกฤตนี้เป็นโอกาส เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราจะได้ปรับปรุงระบบการศึกษาของประเทศให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการศึกษาของไทย

รองปลัดกระทรวงศึกษาฯ กล่าวต่อว่า รูปแบบการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19 ได้ออกแบบให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ ดังนั้น กระทรวงฯ มี 3 คำคือ ออนไซด์ ออนแอร์ ออนไลน์ โดยออนไซด์ ถ้า 1 ก.ค.พื้นที่ปลอดภัยแล้วสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย เข้าสู่ภาพปกติ นักเรียนไปเรียนตามปกติได้ แต่ถ้าบางพื้นที่ยังไม่ปลอดภัยก็ต้องจัดการเรียนการสอนทางไกลที่ กสทช.จัดช่องสัญญาณให้ ซึ่งจะมีการเรียนทั้งออนแอร์ และออนไลน์

ซึ่งออนไลน์สำหรับนักเรียนชั้น ม.4-ม.6 ทั้งนี้ รูปแบบการศึกษาทางกระทรวงได้กระจายอำนาจให้กับเขตพื้นที่และสถานศึกษา ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องมาคุยกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งบริบทการเรียนการสอนก็จะแตกต่างกันไป

นางรักขณา กล่าวต่อว่า นโยบายหลักที่นำมาใช้คือ เพิ่มเวลาพัก ลดการประเมิน งดกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็น และเน้นเรียนเฉพาะวิชากลุ่มสาระหลัก เพื่อให้นักเรียนได้ผ่อนคลายลง และมีเวลาพัก โดยเปิดภาคเรียนแรก 1 ก.ค.-13 พ.ย. ช่วงนี้นักเรียนจะมีเวลาพัก 17 วัน ก่อนจะเปิดภาคเรียนที่ 2 คือวันที่ 1 ธ.ค.-9 เม.ย. ภาคเรียนนี้นักเรียนจะมีเวลาพัก 37 วัน รวมทั้ง 2 เทอม นักเรียนมีเวลาพัก 54 วัน แล้วกลับเข้าสู่สภาพปกติของปีการศึกษาใหม่

ส่วนการเตรียมความพร้อมระบบออนไลน์ จะเริ่มทดสอบระบบต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.เป็นต้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดก่อนเปิดภาคเรียน 1 ก.ค. ในกรณีที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ทั้งเรียนออนไลน์ ออนแอร์ ครูไปพบนักเรียนที่บ้าน ซึ่งทั้งเขตการศึกษา สถานศึกษาและผู้ปกครองต้องมาคิดรูปแบบกัน เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน

สำหรับการเรียนการสอนของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดแนวทางไว้ 4 ระยะคือ

1.การเตรียมความพร้อมในช่วงระหว่าง 7 เม.ย.-17 พ.ค.63 มีการสำรวจความพร้อมการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการจัดการการเรียนการสอนรวมถึงขออนุมัติการใช้ของโทรทัศน์จาก กสทช. รวมถึงเตรียมโครงการพื้นฐานด้านระบบเครือข่ายเพื่อรองรับการให้บริการการเรียนรู้

2.การทดลองจัดการเรียนทางไกลตั้งแต่ 18 พ.ค.-30 มิ.ย.63 ระดับประถมวัย-ระดับการศึกษาตอนต้น ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ทางไกล

3.การจัดการเรียนการสอน 1 ก.ค.63-30 เม.ย.64 โดยวางแผนไว้ 2 สถานการณ์ หากโควิดยังไม่คลี่คลาย ก็ต้องจัดการเรียนการสอนระดับประถมวัยถึง ม.ต้น ด้วยระบบทางไกลผ่านดีแอลทีวี

ส่วนม.ปลายจะมีระบบการเรียนออนไลน์ และกรณีสถานการณ์คลี่คลายก็กลับมาเรียนตามปกติได้ แต่ยังต้องยึดแนวทางปฏิบัติของกระทรวงสาธารสุข และ

4.การทดสอบและการศึกษาต่อ เราจะต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงอุดมศึกษาฯ เรื่องการสอบแก็ตแพต การสอบทีแคต เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย การสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้นป.6 ม.3 และม.6

รองปลัดกระทรวงศึกษาฯ กล่าวต่อว่า ส่วนปฏิทินรับสมัครนักเรียน สพฐ.เริ่มรับนักเรียนชั้น ม.1 และม.4 รับสมัครทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 3 -12 พ.ค. และสอบคัดเลือก ม.1 วันที่ 6 มิ.ย. ม.4 วันที่ 7 มิ.ย. จับฉลากในวันที่ 12 มิ.ย. โดยสอบในห้องเรียน แต่จะรักษามาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ส่วนการประกาศผลสอบม.1 วันที่ 10 มิ.ย. ม.4 ประกาศวันที่ 11 มิ.ย. การรับรายงานตัวมอบตัวของนักเรียนทุกคน ม.1 รายงานตัว 12-13 มิ.ย. ม.4 วันที่ 14 -15 มิ.ย. ฉะนั้นในวันที่ 16 มิ.ย.เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน

ส่วนการเรียนระดับอาชีวะศึกษา ทั้งระดับปวช. ปวส. ปริญญาตรี แบ่งเป็น 4 รูปแบบ 1.ผ่านเอกสาร ตำราเรียน แบ่งกลุ่มย่อย สลับกันมาเรียน 2.ศึกษาทางไกล 3.แบบออนไลน์ และ 4.ผ่านการสอนสด โดยทุกรูปแบบต้องสอดคล้องกับการเรียนการสอน

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: