ป่าไม้ชี้ ที่2.6พันไร่ ทหารเรือขอ ทำโครงการป้องกันภัยทางอากาศ “เป็นสวนป่า ไม่ใช่ป่าเสื่อม” ต้องพิจารณาหลายขั้นตอน





ป่าไม้ ชี้ ที่ 2.6 พันไร่ ที่ทหารเรือขอ ทำโครงการป้องกันภัยทางอากาศ เป็นสวนป่าไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม ต้องพิจารณาหลายขั้นตอน นักวิชาการขวางกองทัพมีหน้าที่ปกป้องประเทศไม่ใช่คุ้มกันกลุ่มทุน จี้กรมป่าไม้รักษาจุดยืนทวงคืนผืนป่า

กรณี พล.ร.ท.อนุชาติ อินทรเสน เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเรือ ทำการแทนผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้ทำหนังสือถึงนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เรื่องการขอใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาห้วยมะหาด ป่าเขานั่งยอง และป่าเขาครอก บริเวณพื้นที่เขาโกรกตะแบกและเขาเนินกระปรอก ในท้องที่ ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองระยอง และ ต.สำนักกะท้อน ต.บ้านฉาง ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง

โดยหนังสือดังกล่าวมีใจความระบุว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) อนุญาตให้กองทัพเรือ เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินภายในป่าสงวนฯ ป่าห้วยมะหาด ป่าเขานั่งยอง และป่าเขาครอก (บริเวณเขาเนินกระปรอก และเขาห้วยมะหาด) ตั้งอยู่ในท้องที่ ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง และต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง รวมเนื้อที่ 2,558-2-75 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2532 – 21 กันยายน 2562 ปัจจุบันกองทัพเรือกำลังจัดทำโครงการป้องกันภัยทางอากาศในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และบริเวณใกล้เคียง และเป็นที่ต้องหน่วยป้องกันภายทางอากาศของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ทั้งในบริเวณพื้นที่เขาโกรกตะแบกเนื้องที่ประมาณ 2,000 ไร่ และบริเวณเขาเนินกระปรอก เนื้อที่ประมาณ 2,600 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 4,600 ไร่ นั้น

วันที่ 9 พฤษภาคม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ให้สัมภาษณ์ ว่า ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว พบว่า ก่อนหน้านี้ ทางกองทัพเรือเคยขอใช้ที่ดินของกรมป่าไม้มาแล้ว เมื่อปี 2532 แต่ยังไม่ได้ไปดำเนินการอะไรมากนัก จนกระทั่งการขออนุญาตใช้หมดอายุลง จึงทำหนังสือเข้ามาใหม่ โดยขอใช้ที่เพิ่มขึ้นจากที่เคยขอแต่เดิมอีก 2,600 ไร่ รวมเป็น 4,600 ไร่ พื้นที่ดังกล่าว เป็นสวนป่า ไม่ใช่พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม

“ยังไม่ได้มีการชี้แจงในรายระเอียดว่า ทางกองทัพเรือจะนำไปดำเนินการอย่างไรบ้าง ต้องให้มีการทำหนังสืออย่างเป็นทางการกว่านี้ก่อน ที่สำคัญคือ กรมป่าไม้ คงไม่ได้อนุญาตให้ใครเข้ามาใช้พื้นที่ได้ง่ายๆ เพราะต้องมีหลายขั้นตอนของการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการระดับกระทรวง ความเห็นชอบของท้องถิ่น ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

ด้านนายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า มีคำถามมากมายกับกรณีนี้ 1.ทำไมกองทัพต้องคุ้มกัน อีอีซี-นิคมมาบตาพุต มันหน้าที่ของกองทัพหรือ ผมคิดว่ากองทัพควรป้องกันประเทศในภาพรวมไม่ใช่หรือ ไม่ใช่เอาทรัพยากรส่วนรวม ทั้งอาวุธ กำลังพล ที่เป็นภาษีประชาชน และทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของส่วนร่วม ไปใช้ป้องกันทุนเฉพาะกรณี

2.ผมไม่มีข้อมูลว่า 4.6 พันไร่ สภาพธรรมชาติเป็นอย่างไร มีชาวบ้านหรือไม่ แต่ป่าสงวนมันต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง ถ้ามีสภาพธรรมชาติ อย่าไปยุ่งครับ ถ้ามีคนอยู่ก็อย่าไปยุ่ง อีอีซี-นิคมมาบตาพุตทำลายธรรมชาติและเบียดขับผู้คนมามากมาย ณ นาทีนี้ต้องหยุดการพัฒนาที่เอื้อให้ทุนแบบนี้ได้แล้ว 3.คำถามต่อกรมป่าไม้ ถ้าอนุญาต กรมป่าไม้ตอบได้ไหมว่านโยบายของกรมป่าไม้คือเพิ่มพื้นที่ป่า ทวงคืนผืนป่าแทบเป็นแทบตายจากคนจนที่ต้องการเพียงทำกิน จับขังคุกดำเนินคดี แต่พอมีโครงการที่เอื้อให้ทุน ทำไมไม่รักษาจุดยืนนั้น

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: