มติเอกฉันท์! บอร์ดประกันสังคม คัดค้านจ่าย75% ผู้ว่างงาน9.9แสนคน





ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า ให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ให้ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน เป็นร้อยละ 75 แต่ไม่เกินเพดาน 15,000 บาท ซึ่งมีประมาณ 9.9 แสนคนเศษ

พร้อมปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง/สถานประกอบการจากเดิมที่ลดเหลือร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 1 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือนมีนาคม ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2563 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง/สถานประกอบการและลูกจ้างผู้ประกันตน แต่เรื่องนี้ก่อนจะเสนอ ครม.จะต้องให้ผ่านมติคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563  มติของการประชุมบอร์ดประกันสังคม ที่มี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ซึ่งประชุมในวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ยืนยันมติบอร์ดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่ให้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุโควิด-19 ร้อยละ 50 ในระยะเวลา 60 วัน

 

“ด้วยเหตุผลว่าหากจ่ายให้ร้อยละ 75 อาจจะกระทบต่อกองทุนประกันว่างงานและไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนที่มีทั้งสิ้น 16 ล้านคนเศษ โดยขณะนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดของทุกฝ่ายเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน”

นางอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ในฐานะกรรมการบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมได้หารือถึงการเพิ่มเงินว่างงานร้อยละ 75 มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง “ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นห่วงสถานภาพของกองทุน เกรงว่าในอนาคตอาจจะเกิดวิกฤตอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินอีก หากนำเงินส่วนนี้มาดูแลผู้ประกันตนจำนวนหนึ่ง อาจไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนที่ไม่ได้ใช้สิทธิในคราวนี้ ที่สำคัญการจ่ายในลักษณะดังกล่าวไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขและเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคม”

“ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มการจ่ายเงินว่างงาน 75% เพราะเป็นห่วงอนาคต หากเกิดวิกฤตว่างงานอีกในปี 2564-2565 จะหาเงินจากไหน ส่วนเรื่องการยืดจ่ายเงินออกไปถึงสิ้นปี ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน ยังยืนยันว่าเบื้องต้นควรจ่ายร้อยละ 50 เป็นเวลา 60 วัน ตามมติที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563” นางอรุณี กล่าว

ส่วนกรณีการลดเงินสมทบของนายจ้าง/สถานประกอบการเหลือร้อยละ 1 นั้น นางอรุณี กล่าวว่า ที่ประชุมยังไม่ได้มีการหารือเรื่องนี้ แต่จากการประชุมบอร์ดประกันสังคมเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา บอร์ดประกันสังคมได้เสนอให้ลดการจ่ายเงินสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเท่ากัน เหลือร้อยละ 4 แต่ที่ผ่านมา ครม.ก็อนุมัติให้ลูกจ้างจ่ายร้อยละ 1 ส่วนนายจ้างให้จ่ายร้อยละ 4

“เข้าใจเจตนาดีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการจะช่วยเหลือลูกจ้างและสถานประกอบการ แต่ประเด็นสำคัญโดยหลักการจะต้องมีการพูดคุยกันที่บอร์ดประกันสังคมด้วยระบบไตรภาคี นอกจากนี้ เรามีความไม่สบายใจตั้งแต่บอร์ดประกันสังคมมีมติให้การจ่ายเงินกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยร้อยละ 50 แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานใช้อำนาจเพิ่มให้เป็นร้อยละ 62 ถ้ารัฐบาลสั่งให้หยุดกิจการเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เราไม่ขัดข้องที่จะจ่ายเงินชดเชย แต่ที่กังวลคือ ผู้ประกอบการที่ฉวยโอกาสเนื่องจากขายของไม่ดีจึงหยุดด้วย เรื่องดังกล่าวนี้มีการมาผสมโรงกันเพื่อได้รับเงินชดเชยร้อยละ 62 แทนที่ลูกจ้างจะได้รับร้อยละ 75 ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน” นางอรุณี กล่าวและว่า เรื่องนี้ต้องฟังเสียงของผู้ประกันตน

นางอรุณี กล่าวว่า ขณะนี้กองทุนว่างงานมี 160,000 ล้านบาท เงินในส่วนนี้ควรจะนำไปช่วยให้คนที่ทำงานมาชั่วชีวิตได้รับเงินบำนาญเพิ่มมากขึ้นจะดีกว่า และในฐานะที่ตนเป็นผู้ประกันตนและเป็นลูกจ้างเหมือนกันเชื่อว่าผู้ประกันตนส่วนใหญ่ก็คิดแบบเดียวกัน ซึ่งหากมีการนำเงินไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง มั่นใจว่าจะมีคนออกมาปกป้องสิทธิของตัวเองเช่นกัน ทั้งนี้หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต้องการให้มีการเพิ่มเงินชดเชยเป็นร้อยละ 75 ควรจะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลมาช่วยในส่วนนี้แทน อย่าผลักภาระให้ประกันสังคม

ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคล ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ทราบว่าบอร์ดประกันสังคมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของตน ขณะนี้รอเพียงให้ปลัดกระทรวงแรงงานทำเอกสารสรุปผลจากการประชุมบอร์ดเสนอเข้าให้พิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากหนังสือดังกล่าวสรุปว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว จะยังมีการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.หรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่คิดอะไรทั้งนั้น และอย่าเพิ่งจินตนาการ ขอให้ดูรายละเอียดในเอกสารก่อน

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: