รมว.แรงงาน ชงครม.จ่ายชดเชย “เหตุสุดวิสัย” เพิ่ม75% ยาวถึงสิ้นปี





เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าวันอังคารหน้าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพิ่มการจ่ายเงินกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 จากร้อยละ 62 ของเงินเดือน แต่ไม่เกินเพดาน 15,000 บาท เป็นร้อยละ 75 เพื่อให้เท่ากับกรณีที่นายจ้างสั่งให้หยุดงานและจ่ายเงินให้ลูกจ้างร้อยละ 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือทั้งนายจ้าง และลูกจ้างในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวด้วยว่า จะเสนอ ครม.ขอปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง/สถานประกอบการเหลือร้อยละ 1 จากเดิมที่ปรับลดให้จ่ายร้อยละ 4 ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะขยายความช่วยเหลือไปจนถึงปลายปี 2563 จากเดิมที่ให้การช่วยเหลือลูกจ้างผู้ประกันตน และช่วยเหลือนายจ้าง/สถานประกอบการเพียง 3 เดือน

หาก ครม.อนุมัติเรื่องนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็พร้อมดำเนินการทันที เพราะมีฐานข้อมูลทั้งผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์และนายจ้าง/สถานประกอบการที่เดือดร้อนอยู่แล้ว

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ลงทะเบียนแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ สามารถยื่นขออุทธรณ์ได้ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป โดยสามารถยื่นเรื่องด้วยตนเองได้ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ จะมีเจ้าหน้าที่รอรับเรื่องทั่วประเทศ

ขณะนี้ มีผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่มีสิทธิ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 จำนวน 990,523 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่วินิจฉัยอนุมัติแล้ว จำนวน 492,273 ราย เป็นเงินจำนวน 2,563.612 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้ สปส.ดำเนินการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แล้วเสร็จงวดแรกภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้

ในวันนี้ (7 พ.ค.63) นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม พิจารณาเรื่องการเพิ่มมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 33 และนายจ้าง/สถานประกอบการ ทั้งนี้ เนื่องจากการนำเรื่องการเพิ่มเงินเยียวยาร้อยละ 75 และการปรับลดเงินสมทบส่วนของนายจ้าง/สถานประกอบกอบการ เข้า ครม.จะต้องเป็นมติบอร์ดบอร์ดประกันสังคม และจึงเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงนาม ภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ แล้วนำเข้าผ่านในคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อบรรจุเป็นวาระการพิจารณาใน ครม.วันที่ 12 พฤษภาคม 2563

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: