โควิดคือของขวัญ คติธรรมโดย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล





พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เทศน์ก่อนฉันเช้า เรื่อง โควิดคือของขวัญ ที่วัดป่าสุคะโต เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563

โควิดคือของขวัญ คำพูดนี้ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล กล่าวว่า เป็นคำพูดดีดีจากผู้หญิงคนหนึ่ง โดยบอกว่า โควิดให้ของขวัญแก่เธอ ซึ่งกล่องของขวัญนั้น คือ เวลา

นับตั้งแต่โควิด 19 ระบาด เธอได้เวลากลับมามากมาย อาทิ เวลาชีวิตที่เคยหมดไปกับการเดินทาง เวลาที่หมดไปกับสิ่งที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ ตอนนี้มีเวลาให้กับที่บ้านอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน

พ่อก็ดีใจที่ลูกสาวอยู่บ้าน หลานก็ดีใจที่ป้ามาอยู่ที่บ้านทั้งวัน ตอนนี้มีเวลาปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้ รวมทั้งรดน้ำต้นไม้ทุกเช้า จากที่ไม่เคยทำเลย เพราะต้องตื่นแต่เช้าไปทำงานทุกวัน

เมื่อก่อนเชื่อแน่ว่า หลายคนไม่ค่อยได้มีเวลาอยู่บ้าน ไม่มีเวลาให้กับพ่อแม่ ไม่มีเวลาแม้กระทั่งให้กับตนเอง แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงทำให้ตอนนี้มีเวลามากมาย

แต่บางคนยังใช้เวลาที่ได้มานั้นไม่เป็น เอาแต่นั่งคิดฟุ้งซ่าน บ่นตีโพยตีพาย โวยวาย ทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น แล้วก็โทษใครต่อใคร จนลืมมองตัวเองว่าได้เวลามามากมาย ควรใช้เวลาให้มีประโยชน์

หลายคนรู้สึกอึดอัดเมื่ออยู่กับคนที่บ้าน ฉะนั้น การไปทำงานนอกบ้าน คือ การหนีคนที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นกับ สามี ภรรยา ลูก หรือแม้กระทั่งพ่อแม่

เมื่อตอนนี้ต้องอยู่กับบ้าน ที่จริงมันไม่ใช่เวลาที่ควรจะอึดอัด หรือ เครียดเลย ถ้ารู้จักทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ร่วมกัน แล้วจะช่วยเติมความสุขให้กับจิตใจได้มากทีเดียว ที่สำคัญ ยังช่วยให้ความสัมพันธ์ในบ้านดีขึ้นอีกด้วย

ขอเล่าถึงครอบครัวหนึ่ง แม่เป็นอัลไซเมอร์ อายุ 80 ปีแล้ว จำได้เพียงทุกวันต้องออกไปเที่ยวซื้อของตามห้างสรรพสินค้า ผู้สูงอายุจำนวนมากมักใช้ชีวิตอย่างนี้ แม่ของเขาทำเช่นนี้ทุกวันมาตลอดจนกระทั่งเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็ยังไปทุกวัน

ตอนสถานการณ์บ้านเมืองปกติก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอล็อกดาวน์ แม่ก็ยังรบเร้าจะไปห้างให้ได้ ลูกก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เพราะอธิบายเหตุผลแม่ก็ไม่เข้าใจ ลูกก็เลยตัดสินใจ ทำบ้านให้เป็นห้างสรรพสินค้าเสีย แล้วชวน ภรรยา ลูกสาว ลูกชาย มาปรับห้องให้มีของวางขายให้มีความคล้ายห้างสรรพสินค้า

หลังจากนั้นจึงพาแม่ไปซื้อของในสถานที่จำลองนี้ เมื่อมาถึงห้องที่เปลี่ยนเป็นร้านแล้ว ลูกก็ทำทุกอย่าง ทั้งช่วยแม่หารถเข็น ยื่นรายการสินค้าให้แม่ แล้วก็พาแม่ไปตามจุดต่างๆ ที่ขายสินค้า ไม่ว่าจะเป็น ขนม นม เนย ช็อกโกแลต ขนมปัง น้ำยาทำความสะอาด

โดยให้แต่ละจุดมีคนที่บ้านเป็นพนักงานขายสินค้า ทำให้เหมือนกับมาชอปปิงจริงๆ จนกระทั่งถึงจุดที่ต้องจ่ายเงิน ก็นำบัตรเครดิตของแม่ส่งให้กับลูกชายตัวเล็กอายุ 7-8 ขวบ ที่ทำหน้าที่เป็นพนักงานรูดบัตรพร้อมยื่นใบเสร็จให้ ทำทุกอย่างเสมือนจริงหมด

แม่ก็มีความสุขมาก เพราะว่าได้ทำอย่างที่ต้องการทุกวัน แถมได้เจอพนักงานในร้านที่เป็นคนรู้จักคุ้นเคย ทำให้มีความสุขกันทั้งบ้าน ไม่ใช่สุขเฉพาะคนเป็นแม่เท่านั้น

เด็กๆ ในบ้านไม่เคยทำกิจกรรมเช่นนี้มาก่อน จึงได้สนุก ตั้งใจทำ ตั้งแต่คิดว่าจะเอาของอะไรมาวางขายดี ต้องช่วยกันสร้างสรรค์กิจกรรม แบบนี้มีประโยชน์ยิ่งกว่าพาครอบครัวไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าเสียอีก ได้เปลี่ยนบ้านให้เป็นร้าน แล้วก็ทุกคนมาช่วยกันขายของ ความสัมพันธ์ในบ้านก็ดีขึ้น อันนี้เรียกว่ารู้จักใช้สถานการณ์ให้เป็นประโยชน์

คล้ายกันกับอีกครอบครัวหนึ่ง ลูกเมื่ออยู่บ้านนานๆ ก็รบเร้าอยากไปกินอาหารนอกบ้านตามร้านต่างๆ พ่อแม่อธิบายว่า มีโรคระบาดเด็กก็ไม่เข้าใจ จึงตัดสินใจเปลี่ยนบ้านให้เป็นร้านอาหารเสียเลย มีแม่เป็นพนักงานเสิร์ฟ พ่อเป็นเชฟ ทำทุกอย่างเหมือนกับมากินอาหารที่ร้าน

เริ่มตั้งแต่แม่ที่เป็นพนักงานเสิร์ฟมาเปิดประตูต้อนรับ พาลูกค้ามาที่โต๊ะ ส่งเมนูถามลูกค้าที่เป็นลูกว่า จะสั่งอาหารอะไรบ้าง หลังจากนั้นจึงมาเสิร์ฟทีละจาน ปฏิบัติเหมือนได้มากินอาหารนอกบ้านตามร้าน

ทุกคนพ่อแม่ลูกก็มีความสุขที่ได้เปลี่ยนบ้านให้เป็นร้านอาหาร มีกิจกรรมพิเศษ พ่อแม่ให้ความสำคัญ คิดค้นกิจกรรม และทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นเป็นอย่างมาก

แต่บางครอบครัว ทำไม่เป็น คิดไม่ออก ก็เลยอยู่อย่างจำเจ จนกลายเป็นความเครียด ทั้งที่จริงมีอะไรให้ทำมากมาย มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์เยอะ

นี่คือตัวอย่างที่หลายคนต่างออกมาบอกว่า โควิดคือของขวัญ ของดีที่ธรรมชาติประทานมาให้ ถ้าไม่มีโควิด การที่จะได้มีเวลาอยู่กับลูก อยู่กับครอบครัว อยู่กับพ่อแม่ ก็คงไม่มี เพราะยังคงทำอะไรที่เคยทำแบบเดิม ไม่ได้ทำกิจกรรมแบบนี้เสียที เพราะไม่มีเวลา แต่ตอนนี้มีเวลาแล้ว อยู่ที่ว่าเราจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์หรือเปล่า ซึ่งก็ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ อาศัยใจ ไม่เอาแต่คิดวิตกกังวลหรือบ่นเพียงอย่างเดียว

ข่าวจาก springnews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: