เปิดรายละเอียด “ลดค่าไฟฟ้า” เยียวยา “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”





นอกเหนือจากปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคแล้ว สาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา รถโดยสาร และโทรศัพท์ ก็สำคัญและขาดไม่ได้ในภาวะวิกฤตเชื้อไวรัส โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก

การรณรงค์ให้ทุกคน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” อย่างเข้มข้นดูจะเป็นหนทางที่ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดค่อนข้างเห็นผล แต่กลับก่อให้เกิดภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่ทำงานจากบ้าน (Work form Home) ซ้ำเติมภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นขณะที่รายได้ของประชาชนเหือดหาย

กระทรวงพลังงานจึงมีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือน เนื่องจากการให้ความร่วมมืออยู่บ้านครอบคลุม 22 ล้านครัวเรือน วงเงิน 23,688 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ขยายปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (มิเตอร์) ขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ ใช้ไฟฟรี ไม่เกิน 150 หน่วย จาก 90 หน่วย ตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค. ประมาณ 10 ล้านครัวเรือน

กลุ่มที่ 2 ลดภาระค่าไฟโดยยึดหน่วยการใช้ไฟเดือนก.พ.2563 ก่อนเกิดโควิด-19 เป็นเกณฑ์สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยขนาดมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ขึ้นไป ที่มียอดการใช้ไฟเกิน 150 หน่วยต่อเดือน และผู้ใช้ไฟขนาดมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ แต่มียอดใช้ไฟเกิน 150 หน่วย ติดต่อกัน 3 เดือน ให้จ่ายค่าไฟรายเดือนสำหรับรอบการใช้ไฟเดือนมี.ค.-พ.ค.2563 โดยใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนก.พ.2563 เป็นฐานในการอ้างอิง ดังนี้

2.1 หากการใช้ไฟรายเดือนที่กำหนดน้อยกว่าหน่วยการใช้ไฟของเดือนก.พ. ให้จ่ายค่าไฟตามหน่วยการใช้ไฟจริงในเดือนนั้นๆ

2.2 หากการใช้ไฟรายเดือนมากกว่าหน่วยการใช้ไฟของเดือนก.พ. แต่ไม่ถึง 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนก.พ.2563 เช่น เดือนก.พ.ใช้ไฟ 500 หน่วย และในเดือนมี.ค.ใช้ไฟ 700 หน่วย ซึ่งไม่เกิน 800 หน่วย จะจ่ายค่าไฟฟ้าคิดตามจำนวน 500 หน่วยเท่ากับเดือนก.พ.

2.3 หากการใช้ไฟรายเดือนมากกว่าหน่วยการใช้ไฟเดือนก.พ. และมากกว่า 800 หน่วย แต่ไม่ถึง 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟเท่ากับหน่วยการใช้ไฟของเดือนก.พ. บวกด้วยค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟเดือนก.พ.2563 ในอัตรา 50% ของค่าไฟจริง

เช่น เดือนก.พ.ใช้ไฟ 500 หน่วย เดือนมี.ค.ใช้ 1,000 หน่วย ซึ่งเกินจาก 800 หน่วยตามเกณฑ์ ส่วนต่างหน่วยใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบจากเดือนก.พ.อยู่ที่ 500 หน่วย เมื่อลด 50% เท่ากับส่วนต่างใช้ไฟเพิ่ม 250 หน่วย

นำส่วนต่าง 250 หน่วย รวมกับ 500 หน่วยที่ใช้ในเดือนก.พ.เป็นฐาน ก็เท่ากับหน่วยไฟที่ใช้จำนวน 750 หน่วย ซึ่งจะใช้คำนวณเป็นค่าไฟในเดือนมี.ค.

2.4 หากการใช้ไฟรายเดือนมากกว่าหน่วยการใช้ไฟของเดือนก.พ.2563 และมากกว่า 3,000 หน่วย จะมีส่วนลดให้ 30% โดยให้จ่ายค่าไฟเท่ากับหน่วยการใช้ไฟเดือนก.พ. บวกด้วยค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนก.พ.ในอัตรา 70% ของค่าไฟจริง

เช่น เดือนก.พ.ใช้ไฟ 1,200 หน่วย เดือนมี.ค.ใช้ไฟ 3,200 หน่วย เกินจาก 3,000 หน่วยตามเกณฑ์ ส่วนต่างหน่วยใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบจากเดือนก.พ.อยู่ที่ 2,000 หน่วย คิดส่วนลด 30% จาก 2,000 หน่วย คือ 600 หน่วย

เท่ากับต้องเสียส่วนเพิ่มค่าไฟที่ 1,400 หน่วย และนำไปบวกกับฐานการใช้ไฟเดือนก.พ. 1,200 หน่วย เท่ากับต้องจ่ายค่าไฟที่ 2,600 หน่วยในเดือนมี.ค.

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ระบุว่ารัฐบาลยึดหลักการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ จึงยึดฐานการใช้ไฟเดือนก.พ.ก่อนที่จะเกิด วิกฤตโควิด-19 เป็นเกณฑ์ในการพิจารณารายละเอียด การดูแลภาระค่าไฟให้กับประชาชน

“โมเดลนี้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ สะท้อนพฤติกรรมการใช้ไฟอย่างแท้จริงที่สุด และสามารถตอบคำถามสังคมได้ถึงสิ่งที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ หลังประชาชนให้ความร่วมมืออยู่บ้านตามนโยบายของรัฐบาล”

อย่างไรก็ตามประชาชนที่ได้รับบิลค่าไฟเดือนมี.ค.แล้วให้ชำระค่าไฟตามยอดที่แจ้งเป็นปกติ เพราะการไฟฟ้าฯ จะดำเนินการคิดคำนวณส่วนต่างที่ประชาชนจ่ายเกินไปแล้ว นำไปหักกลบลบกับบิลค่าไฟในรอบเดือนพ.ค.2563 โดยอัตโนมัติ พี่น้องประชาชนไม่ต้องเดินทางไปที่ทำการไฟฟ้า

ส่วนกรณีที่ประชาชนพบปัญหาหน่วยมิเตอร์และบิลค่าไฟไม่ตรงกันนั้น ให้แจ้งเรื่องกับการไฟฟ้าในพื้นที่ของตัวเองเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป

นอกจากช่วยเหลือประชาชนแล้ว กระทรวงพลังงานยังพิจารณาขยายเวลาปรับลดค่าไฟฟ้าในธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ไปจนถึงเดือนธ.ค.2563 จากเดิมที่จะสิ้นสุด ในเดือนมิ.ย. ตามการใช้จริงจากเดิมที่คิดแบบเหมาจ่าย

ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง ในเขตกรุงเทพมหานคร 23,921 ราย ภูมิภาคทั่วประเทศ มีผู้ประกอบการขนาดกลาง 81,019 ราย

ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่ในกทม. 2,421 ราย ขนาดใหญ่ 7,092 ราย

ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง เช่น โรงแรม หอพัก/อพาร์ตเมนต์

ประเภทที่ 6 องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร

และประเภทที่ 7 กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่าเนื่องจากภาคเอกชนประเมินว่าธุรกิจไม่สามารถฟื้นตัวได้ภายในกลางปีนี้ เห็นได้จากขณะนี้แต่ละกิจการยังลดกำลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ใช้ไฟตามจริงเพียงประมาณ 20% แต่ระบบเหมาจ่ายทำให้เอกชนต้องจ่ายถึง 70%

จึงมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กลับไปพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม ในการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการตามข้อเสนอของภาคเอกชน

ขณะเดียวกันคนส่วนหนึ่งยังสงสัยถึงฐานค่าไฟฟ้า เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงต่ำมาก เป็นประวัติการณ์

ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกช่วงวันที่ 13-19 เม.ย. ที่ผ่านมา น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 20.78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ตลาดเวสต์เท็กซัสเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 20.11 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 4.28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เผยว่าหากโรคโควิด-19 ยังยืดเยื้อจะทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกหลายเดือน ล่าสุดทุกประเทศทั่วโลกใช้น้ำมันรวมกันวันละ 70 ล้านบาร์เรล ขณะที่กำลังการผลิตจากโอเปกและนอกโอเปกมีกำลังการผลิตรวมกันวันละ 80-90 ล้านบาร์เรล น้ำมันโลกอยู่ในภาวะล้นตลาด

เมื่อน้ำมันที่เป็นต้นทุนเชื้อเพลิงมีราคาถูกลง การผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในต้นทุนราคาที่อ้างอิงราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-12 เดือน ก็น่าจะทำให้ค่าไฟในอีก 6-12 เดือนข้างหน้าถูกลงตามราคาน้ำมันที่ดำดิ่งอยู่ในขณะนี้หรือไม่

ถามเองก็ตอบเองว่าไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะที่ผ่านมาเมื่อเวลาราคาเชื้อเพลิงปรับขึ้นแต่ค่าไฟไม่ขึ้น และเมื่อราคาน้ำมันลงค่าไฟก็ตรึงไว้ไม่ปรับลง

นั่นเป็นเพราะ กกพ.ประกาศตรึงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) -11.60 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือนตั้งแต่งวดเดือนม.ค.-เม.ย.2562 จนถึงงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2563 ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ด้านนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ตามหลักการเมื่อราคาเชื้อเพลิงถูกลง ค่าไฟก็ควรจะถูกลงเป็นเรื่องปกติ แต่ในทางปฏิบัติเมื่อราคาเชื้อเพลิงขึ้น กกพ.ตรึงค่าเอฟทีไว้เพื่อไม่ให้ต้นทุนส่งผ่านไปยังอัตราค่าไฟที่เรียกเก็บกับประชาชนแพงขึ้น ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพได้อีกทางหนึ่ง โดย กฟผ.รับภาระจ่ายส่วนต่างที่เกิดขึ้นเองก่อน

จนกว่าเมื่อราคาเชื้อเพลิงปรับลดลง กกพ.ยังคงตรึงค่าเอฟทีไว้ ไม่ปรับลดค่าเอฟทีลงทันที เพื่อนำเงินส่วนต่าง ที่เหลือจ่ายคืนให้ กฟผ. ซึ่งต้องใช้เวลาคืนเงินกันอย่างน้อย 1-2 ปี

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลต่อราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติเป็นปัจจัยในการประกอบการพิจารณา ค่าเอฟทีด้วย

การช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจเกี่ยวกับค่าไฟฟ้า อย่างน้อยก็ช่วยให้คนที่กำลังเดือดร้อนหายใจหายคอได้คล่องขึ้นบ้าง

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: