เคาะแล้ว! แจกเกษตรกร 5,000บาท3เดือน วงเงิน1.35แสนล้าน





วันที่ 22 เม.ย. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอมาตรการเยียวยาเกษตรกร ตามจำนวนทะเบียนเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 9 ล้านทะเบียนเกษตรกร วงเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หรือ 15,000 บาทต่อทะเบียนเกษตรกร โดยเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ ซึ่งมาตรการเยียวยาเกษตรกรคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 135,000 ล้านบาท ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

สำหรับการลงทะเบียนขอรับการเยียวยาผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน มีการระบุว่าผู้ที่ลงทะเบียนมากกว่า 10 ล้านคนเป็นเกษตรกร ดังนั้นการหารือกับคณะกรรมการฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้ชี้แจงระบบการลงทะเบียนเกษตรกรว่า การลงทะเบียนผู้ที่เป็นเจ้าของทะเบียน ได้ลงชื่อลูกหลานเข้าไปด้วย ทำให้ใน 10 ล้านคน ระบบเอไอระบุว่ามีอาชีพเกษตรกร แต่ในจำนวนนั้นมีประมาณ 3-4 ล้านคนเท่านั้น ที่เป็นเจ้าของทะเบียน เพื่อที่กระทรวงเกษตรฯ จะช่วยเหลือเอง ดังนั้นอีกประมาณ 6-7 ล้านคน หากมีการอุทธรณ์ หรือกระทรวงการคลังให้ทบทวนสิทธิ์ กลุ่มนี้ต้องได้รับสิทธิ์เงินยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน

ที่ผ่านมามีการมองว่าภาคเกษตรไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่เมื่อประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กิจกรรมทุกอย่างหยุดชะงักลง การเก็บเกี่ยวทำไม่ได้ การนำผลผลิตออกขายเป็นไปได้ลำบาก หากพิจารณาโดยลึกแล้วจะเห็นว่าเกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนอยู่แล้ว หากไม่ได้รับการช่วยเหลือเลยก็จะไม่ธรรมเมื่อเทียบกับอาชีพกลุ่มอื่น

ทั้งนี้มีเกษตรกรบางกลุ่มที่ไปขึ้นทะเบียนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน แล้วถูกดีดออกจากบัญชีการช่วยเหลือนั้น กระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงกับคณะกรรมการว่า ควรเปิดโอกาสเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของครัวเรือนให้อุทธรณ์และรับเงิน 5,000 บาทดังกล่าวในกรณีที่เกษตรกรกลุ่มนี้ได้ประกอบอาชีพ ค้าขาย หรือขับแท็กซี่จริง

“ต่อไปนี้การช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรฯในมาตรการดังกล่าวจะช่วยตามรายทะเบียนที่มีประมาณ 9-10 ล้านทะเบียนเท่านั้น ไม่นับเป็นราย ซึ่งจะมีมากกว่า 16-17 ล้านราย แบ่งเป็นที่ขึ้นกับกรมส่งเสริมการเกษตร 6.1 ล้านทะเบียน ประมงไม่เกิน 1 ล้านทะเบียน ปศุสัตว์ 3 ล้านทะเบียน ซึ่งจะอัพเดททุกรอบการผลิต”

นายอนันต์กล่าวว่า การช่วยเหลือดังกล่าวเป็นภาวะที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการประกันรายได้เกษตรกร ทั้งชาวสวนปาล์ม ยาง ข้าว มันสำปะหลัง ซึ่งยังเดินหน้าตามการประกันรายได้ต่อไป นอกจากนี้เกษตรกรอาจได้รับมาตรการฟื้นฟูเพิ่ม ในกรณีที่ผลผลิตได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติและอื่นๆ ที่เป็นมาตรช่วยเหลือปกติตามสถานการณ์

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: