สมาคมโรคติดเชื้อฯร่อนแถลงการณ์ ชี้ฉีดพ่นฆ่าโควิด “อันตราย” ไม่ช่วยลดความเสี่ยง-สิ้นเปลือง





ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2563  สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบนตัวบุคคลหรือสถานที่ เพื่อทำลายเชื้อ SAR-CoV-2 (เชื้อที่เป็นสาเหตุของโควิด-19)  โดยมีสาระสำคัญคือ เตือนหลายหน่วยงานที่กำลังทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อไวรัสในขณะนี้ว่า ไม่ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19  และยังอาจจะเป็นอันตรายต่อคนได้รวมทั้งสิ้นเปลืองงบประมาณอีกด้วย

สำหรับข้อความในแถลงการณ์ระบุว่า ในขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 ต่อเนื่องมานานพอสมควร ด้วยความกังวลเรื่องการปนเปื้อนเชื้อในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ และที่พักอาศัย ตลอดจนในร่างกายของผู้ป่วย

จึงเกิดการปฏิบัติที่หลากหลาย ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าจะช่วยทำลายเชื้อ หรือลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนร่างกายของบุคคลทั่วไป ทั้งในลักษณะของการสร้างอุโมงค์ให้เดินผ่าน หรือเดินผ่านไปตามทางเดินปกติ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนถนนหรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ตลอดจนภายในอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยหรือร้านค้า

ทางสมาคมโรคติดเชื้อฯ ขอชี้แจงว่า 1.การฉีดพ่นทำลายเชื้อบนร่างกาของบุคคล ไม่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อการติดเชื้อ เนื่องจากหากบุคคลมีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะอยู่ที่ทางเดินหายใจ ซึ่งการพ่นยาฆ่าเชื้อในลักษณะดังกล่าว จะไม่สามารถทำลายเชื้อได้

นอกจากนี้ ยาฆ่าเชื้อยังอาจจะเป็นอันตรายต่อคนได้ จึงไม่ควรทำโดยเด็ดขาด การป้องกันการแพร่เชื้อที่ถูกต้อง คือการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และการรักษาความสะอาดของมือ

2.ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อหรืออบฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีต่าง ๆ บนถนน สถานที่สาธารณะ หรืออาคารบ้านเรือนใด ๆ ไม่ว่าในสถานที่นั้นจะมีผู้ป่วยโรคนี้หรือไม่ การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

นอกจากนี้ หากในบริเวณนั้นมีเสมหะหรือสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยที่ยังไม่แห้ง การฉีดพ่นน้ำยาอาจทำให้เชื้อฟุ้งกระจายขึ้นมาเป็นอันตรายได้ หากจะทำความสะอาดในกรณีมีผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการป่วยเป็นโรคนี้ แนะนำให้ใช้วิธีเช็คถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: