แพทย์เร่งหาสาเหตุเหยื่อโควิด ดับ2ราย คาดเพราะรักษาช้า-บอกประวัติไม่ครบ





เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค แถลงถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 รักษาหายกลับบ้านได้อีก 11 ราย แต่ยังพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย รวมสะสม 9 ราย และมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่มใหม่ 136 ราย รวมสะสม 1,524 ราย นับเป็นรายที่ 1,389-1,524 ราย โดยกระจายใน 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 80 ราย เชียงใหม่ 9 ราย สมุทรปราการ 7 ราย ภูเก็ต 6 ราย ชลบุรี และนครสวรรค์ จังหวัดละ 3 ราย

นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า ในจำนวนผู้ป่วยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันเดิมและเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 71 ราย ได้แก่ 1.เกี่ยวข้องกับสนามมวย 2 ราย 2.เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง 10 ราย เช่น ทองหล่อ นานา สุขุมวิท และสวนหลวง สถานบันเทิงต่างจังหวัด 2 แห่ง ได้แก่ สมุทรปราการ และ เชียงใหม่ 3.เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 59 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 59 ราย ได้แก่ 1.คนไทยเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง 17 ราย เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา กาตาร์ ออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส ปากีสถาน และสเปน 2.ชาวต่างชาติเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง 4 ราย รัสเซีย ฝรั่งเศสและชาวออกาเนียโดยเดินทางผ่านมาทางอินเดีย 3.ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่แออัดที่จะต้องใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติจำนวน 15 ราย ได้แก่ ช่างเสริมสวย คนขับรถโดยสาร พนักงานขาย พนักงานนวดสปา พนักงานบาร์ 4.บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 2 ราย รวมมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสะสม 21 ราย มีทั้งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโดยตรง และไม่ได้ทำงานรักษาผู้ป่วยโดยตรง 5.ผู้ป่วยที่พบในสถานที่แออัด เช่น ตลาดนัด คอนเสิร์ต มีจำนวน 3 ราย และเกี่ยวข้องขนส่งสาธารณะ 4 ราย เช่น รถโดยสาร รถตู้ รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ ด่านอาการ และอื่นอีก จำนวน 14 ราย

กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยกลุ่มที่ยืนยันทางห้องปฏิบัติการแล้วแต่ต้องรอการสอบสวนโรคและประวัติเสี่ยงเพิ่มเติม จำนวน 6 ราย

นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า สรุปรวมประเทศไทย ผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 1,524 ราย รักษาหายแล้ว 127 ราย อยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล 1,388 ราย อาการหนัก 23 ราย ทุกรายอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และเสียชีวิตสะสม 9 ราย โดยวันนี้ที่พบผู้ป่วยที่เสียชีวิต 2 ราย โดย รายที่ 1 ชายไทยอายุ 54 ปี ที่ จ.ยะลา มีประวัติเดินทางกลับจากมาเลเชีย รายที่ 2 หญิงไทย อายุ 56 ปี รักษาอยู่ใน รพ.เอกชนแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ โดยมีภาวะปอดอักเสบ

“ผู้ป่วยที่เสียชีวิตทั้ง 2 ราย ไม่มีโรคประจำตัว และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้ง 2 ราย จึงอยู่ในระหว่างการสอบสวนสาเหตุว่าเสียชีวิตจากปัจจัยใด เช่น มารับการรักษาช้า หรือบอกข้อมูลประวัติความเสี่ยงไม่ครบ ข้อสังเกตคือ ขณะนี้พบผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเกิดจากเข้ารับการรักษาช้า รวมถึงเริ่มพบผู้ป่วยหนักมากขึ้นรวมสะสม 23 ราย” นพ.อนุพงศ์กล่าว และว่า ผู้ป่วยยืนยัน 1,524 ราย กระจายอยู่ 59 จังหวัดในประเทศไทย เช่น กรุงเทพฯ 721 ราย ปริมณฑล 73 ราย ภูเก็ต 49 ราย ยะลา 42 ราย สมุทรปราการ 41 ราย ชลบุรี 39 ราย ปัตตานี 33 ราย สงขลา 29 รายและเชียงใหม่ 21 ราย

นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า ยังพบผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับขนส่งสาธสารณะ ทั้งรถแท็กซี่ รถเมล์ รถบัส รถตู้ รถไฟฟ้า เรือ เครื่องบิน อย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวซ้องกับกาชนส่งสรารณะคนชับผู้โดยสาร พนักงานอื่นๆ รวมทั้งประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทาง เพิ่มความระมัดระวัง ป้องกันตัวเอง โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ อาบน้ำทันทีเมื่อกลับเข้าบ้าน และเฝ้าระวังสังเกตอาการป่วยของตนเองและคนในครอบครัว ในส่วนผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะและพนักงาน ต้องทำความสะอาดยานพาหนะอย่างสม่ำเสมอ เปิดประตู หน้าต่าง ระบายอากาศ และหลังรับผู้โดยสารที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ให้สวมถุงมือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอส์ 70% หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เน้นพื้นผิวที่ประชาชนสัมผัสบ่อย เช่น มือจับประตู เบาะรถ ที่พักแขน เป็นต้น

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: