รถเบนซินมีหนาว!! สั่งยกเลิกขายแก๊สโซฮอล์91 เริ่ม1ก.ย.นี้!!





18 มี.ค.63 “กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เตรียมประกาศกำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 (เบนซินผสมเอทานอล 20%) เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้ากระทรวงพลังงาน ประกาศให้น้ำมันดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา” น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าว

ที่ประชุมกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ข้อสรุป ว่ามีแนวทางลดประเภทชนิดน้ำมันกลุ่มเบนซินลง และยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และกำหนดให้โรงกลั่นน้ำมันยกเลิกการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้ และยกเลิกการจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน ในวันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นไป

“ปัจจุบัน โรงงานเอทานอล 26 แห่งทั่วประเทศ มีการผลิตเอทานอลรวม 1,600 ล้านลิตรต่อปี ในขณะที่ กำลังการผลิตจริงมีสูงถึง 2,200 ล้านลิตรต่อปี” นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ นายกสมาคมการค้าและผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าว

ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ต้องหารือร่วมกับผู้ค้าน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน ผู้ผลิตและผู้ค้าเอทานอล เพื่อเตรียมความพร้อม การลดหัวจ่ายน้ำมัน ชนิดน้ำมันของกลุ่มเบนซินลง 1 ประเภท ซึ่งสมาคมผู้ค้าปลีกน้ำมันรายย่อย ได้ตอบรับพร้อมจะลดประเภทหัวจ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 พร้อมทั้งหารือยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 95 ในลำดับต่อไป

“ในเร็ว ๆ นี้จะมีการกำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 (เบนซินผสมเอทานอล 20%) เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศไทย ตามที่กระทรวงพลังงานได้มีการกำหนดเป้าหมายไว้ ว่าจะประกาศใช้ได้ในไตรมาส 3 เพื่อยกระดับราคาอ้อยและมันสำปะหลัง ที่เป็นพืชหลักในการนำมาผลิตเอทานอล” น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช กล่าว

ทั้งนี้ปริมาณของเอทานอล อาจจะลดลงในช่วงนี้ เนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง รวมถึงในส่วนของโรงกลั่นน้ำมัน ที่ต้องบริหารจัดการน้ำมันเบนซินพื้นฐาน (Gasoline Base หรือ G-Base) ให้สมดุล เพราะโรงกลั่นน้ำมันผลิต G-base 1 หรือน้ำมันพื้นฐานสำหรับผลิตแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นส่วนใหญ่ หากยกเลิกขายแก๊สโซฮอล์ 91 โรงกลั่นน้ำมันก็ต้องปรับกระบวนการผลิตให้สอดรับกับข้อเท็จจริง

“ในขณะที่กรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีการกำหนดมาตรการส่งเสริม ให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลบี 10 (บี 100 ผสมน้ำมันดีเซล 10%) เพื่อเป็นน้ำมันทางเลือกให้กับประชาชน แทนน้ำมันดีเซลบี 7 ที่ปัจจุบันถือว่าเป็นน้ำมันมาตรฐานดีเซล สำหรับราคาขายปลีกบี 10 จะมีการจูงใจ การใช้ระยะสั้น ๆ ด้วยการเสนอให้ลดราคาขายปลีกให้ต่ำลงกว่าบี 7 ประมาณ 1 บาทต่อลิตร” นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าว

ในด้านค่ายผู้ผลิตรถยนต์จากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แจ้งว่า ยังไม่พร้อมให้มีการใช้บี 10 แต่สมาคมผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น (JAMA) ได้เสนอแนะในเรื่อง ดังกล่าวว่า การเพิ่มสัดส่วนผสมบี 100 ในน้ำมันดีเซล เป็นบี 10 นั้นไม่ขัดข้อง จากการหารือร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ในประเทศทุกยี่ห้อ ได้รับการยืนยันว่าสามารถใช้บี 10 ได้ไม่มีปัญหา สำหรับรถยนต์ที่ผลิตตั้งแต่ปีการผลิต 2011 เป็นต้นมา หรือรถยนต์อายุไม่เกิน 6-7 ปี แต่หากเป็นรถยนต์รุ่นเก่า ๆ ก็ต้องนำไปตรวจสภาพก่อน ดังนั้นให้สถานีบริการน้ำมันเป็นผู้เลือกเองว่าจะจำหน่ายบี 10 หรือบี 7 หรือจะจำหน่ายทั้ง 2 ชนิดก็ได้ เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภค”

แต่อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น (JAMA) ยังมีความกังวลในเรื่องของมาตรฐานน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (บี 100) ว่าจะต้องมีกรดโมโนกลีเซอไรด์ไม่เกิน 0.4% ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตบี 100 ของประเทศไทยมีเพียง 2 ราย ที่ผลิตได้ตามมาตรฐานดังกล่าว

“ในส่วนของการจัดจำหน่าย บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ บริษัทฯ ผู้บริหารแบรนด์สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น มีความพร้อมที่จะสนองนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนน้ำมันดีเซล B10 พร้อมตอกย้ำคุณสมบัติ PTT UltraForce Diesel B10 คุณภาพสูง เทียบเท่าน้ำมันดีเซลปกติ ในราคาประหยัดกว่าน้ำมันดีเซลปกติ 2 บาท โดยเตรียมเดินหน้าขยายให้ครอบคลุมทุกสถานีบริการ ภายในสิ้นปีนี้” นายบุญมา พนธนกรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน เปิดเผย

ข่าวจาก เชียงใหม่นิวส์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: