กรมการค้าภายใน แจงเหตุอนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์1.03ล้านชิ้น ชี้เป็นเป็นคนละชนิดกับที่ใช้ในประเทศ





ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า ตามที่โซเชียลมีเดีย มีการเผยแพร่ เอกสารใบอนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ให้กับบริษัท เอ็มเมอรอลด์ นอนวูเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 1.03 ล้านชิ้น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 หลังกระทรวงพาณิชย์ประกาศใช้มาตรการห้ามส่งออก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 นั้น

ล่าสุดนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.2563 จนถึงปัจจุบัน ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย ภายใต้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ กกร ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา คือ 1) หน้ากากอนามัยที่ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในประเทศ 2) สินค้าที่มีลิขสิทธิ์ของต่างประเทศ 3) โรงงานที่ผลิตได้รับบีโอไอให้ผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น รวมถึงหน้ากากเฉพาะที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ถึงจะอนุญาต ให้ส่งออกได้

โดยในการพิจารณามีคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ที่กกร.แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม และผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผู้แทนจากกรมการค้าภายใน ร่วมกันพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ซึ่งในการพิจารณาอนุญาตส่งออกแต่ละครั้งผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะพิจารณาชนิด และคุณภาพของหน้ากากอนามัย หากปรากฏว่าเป็นสเป็คดังกล่าวข้างต้นจึงจะอนุญาตให้ส่งออกได้ แต่หน้ากากอนามัยแบบที่ไทยต้องใช้ ไม่มีการอนุญาตให้ส่งออก

“ตามที่มีการเผยแพร่ภาพใบอนุญาตให้ส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในสื่อโซเชียลมีเดียนั้น เป็นไปตามเงื่อนไขการส่งออกที่กำหนด เพราะเป็นการผลิตตามกฎหมายบีโอไอ ซึ่งการที่จะระงับการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไม่มีเหตุผลที่จะนำมาอ้างต่อผู้ขอส่งออก และอาจจะต้องรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้น การส่งออกตามกรณีดังกล่าวข้างต้น ขอยืนยันว่าไม่อนุญาตให้ส่งออกหน้ากากอนามัยที่ใช้ในประเทศอย่างแน่นอน”

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: