กมธ.แก้รธน. เปิดเวทีฟังความเห็น นศ.จัดเต็ม “ขอแก้ที่มานายกฯ-ตรวจสอบองค์กรอิสระ”





เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 มีนาคม ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฏร จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนักศึกษา จำนวน 45 มหาวิทยาลัย โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานกมธ. เป็นประธาน

นายพีระพันธุ์ กล่าวเปิดเวทีว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่คำนึงถึงแต่ตัวเอง การที่คิดว่ามีสิทธิเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้นั้น ถือว่าไม่ใช่ เพราะความจริงต้องคิดถึงคนอื่นด้วย เนื่องจากคนอื่นก็มีสิทธิเหมือนเรา ถ้าเราไม่คำนึงสังคมก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้น หัวใจรัฐธรรมนูญ คือหมวดที่ด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และหมวดว่าด้วยการบริหารประเทศ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง ส.ส ส.ว. และองค์กรอิสระ

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า สมัยยังเป็นักศึกษาปริญญาโทที่สหรัฐ ชาวอเมริกากันมักอ้างรัฐธรรมนูญเสมอ บางคนเถียงกับพนักงานในร้านสะดวกซื้อว่าทำไมไม่ติดป้ายว่าระวังลื่น โดยอ้างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีหน้าที่ดูแลสังคม ที่ชาวอเมริกันรักรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง คนอเมริกันถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายของเขา ไม่ได้เป็นของนักการเมือง ดังนั้น หากเราทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือคุ้มครองไม่ใช่เฉพาะการเมือง แต่คุ้มครองชีวิต จะทำให้ประชาชนรู้สึกหวงแหนและผูกพันธ์กับรัฐธรรมนูญ

“รัฐธรรมนูญมีสองส่วนที่เกี่ยวกับประชาชน คือ เรื่องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และเรื่องสิทธิในการบริหารประเทศ ดังนั้น ทางกมธ.จึงได้หารือว่าต้องทำรัฐธรรมนูญไม่ให้เป็นของฝ่ายการเมืองหรือคู่มือของฝ่ายการเมือง การที่เราจะทำแบบนี้ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงได้ตั้งคณะอนุกมธ.รับฟังขึ้นมา มอบหมายให้นายวัฒนา เมืองสุข ไปรับฟังทุกกลุ่มตามระยะเวลาที่กมธ.มีอยู่ หนึ่งในกลุ่มที่สำคัญ คือ กลุ่มนักศึกษา ซึ่งท่านจะบอกว่าเป็นเด็กไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นวัยที่กำลังเติบโต” นายพีระพันธุ์ กล่าว

จากนั้นได้มีการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้แสดงความคิดเห็น โดยนายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง ภาคีนักศึกษาศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเราไม่ได้เลือกมา เราไม่มีปากเสียงอะไรเลย ต่อมาเมื่อมีการทำประชามติก็ไม่ให้เราออกมาส่งเสียงว่าทำไมจึงไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งยังใช้อำนาจรัฐทุกช่องทางในการปิดเสียงคนเห็นต่าง ซึ่งนักศึกษาที่มาวันนี้ไม่อาจเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็นตัวแทนนักศึกษาทั้งหมด ดังนั้น ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจึงทำให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้มากที่สุด ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้กมธ.เปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม เราให้คำมั่นสัญญาว่าหากทุกคนเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากพวกเราอย่างแท้จริง ขอให้ยื่นมือออกมา พวกเราพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

ด้านนายวิริยะ ก้องศิริ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นที่อยากเรียกร้อง คือ 1.เรื่องสิทธิเสรีภาพ เช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่ห้อยท้ายว่า “เว้นแต่มีกฏหมายความมั่นคงของรัฐ” ตนจึงขอเสนอให้เขียนให้ชัดเจนว่ากฏหมายเหล่านี้ควรตีความอย่างไร ดังนั้น กฏหมายใดที่สามารถเข้ามาใช้กำกับสิทธิเหล่านี้ของประชาชนได้ ไม่ใช่อ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐและความเป็นคุณกับรัฐบาล 2.ขอเสนอให้แก้มาตรา 91 ว่าด้วยวิธีการคำนวนส.ส. เรื่องนี้ข้อดีคือจะทำให้พรรคใหญ่ไม่มีเสียงที่มากจนเกินไป และให้พรรคเล็กได้มีพื้นที่ แต่หากพรรคการเมืองที่มีเสียงน้อยเกินไป ไม่มีระบบการจัดการจะไม่สามารถสะท้อนเจตนารมของพี่น้องได้อย่างแท้จริง 3.ควรแก้ไขมาตรา 159 ว่าด้วยที่มานายกรัฐมนตรี โดยนายกฯควรมาจากส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา

นายวิริยะ กล่าวอีกว่า 4.ควรแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และเลือกกันมาเอง มีที่มาไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญกลับกำหนดให้ต้องใช้เสียงส.ว. จึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ตรงนี้เป็นเสมือนกุญแจล็อคประเทศให้นิ่งอยู่กับที่ 5.องค์กรเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจ โดยองค์กรตุลาการถือเป็นศาลสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม แต่วันนี้ไม่มีใครสามารถตรวจสอบองค์กรยุติธรรมได้เลย เพราะผู้บริหารศาลไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน จึงขอเสนอให้คนที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารศาลต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฏร โดยใช้เสียงรับรอง 3ใน4 เพื่อความชอบธรรมและประชาธิปไตย และ 6.องค์กรอิสระ ตามมาตรา 230 และมาตรา 247 วันนี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก แต่ไม่มีอำนาจใดในการตัดสิน ทุกเรื่องจะถูกเขียนส่งไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีอำนาจในการฟ้องศาล กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนำเรื่องนี้ออกไป และทำให้เรื่องเหล่านี้กองอยู่ที่กสม.โดยไม่ได้รับการแก้ไข

“ทางออกที่ดีที่สุด สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ ใช้รูปแบบรัฐธรรมนูญ ปี 40 โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่าง เพราะรัฐธรรมนูญที่ไม่ดีย่อมทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่ดี การมีรัฐธรรมนูญที่ดีจะทำให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้” นายวิริยะ กล่าว

ขณะที่นายพร้อมสิน บุญจันทร์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคีนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า วันนี้ขอถามว่าเรียกพวกเราไม่กี่คนมาทำอะไร เพราะเวลาในการจัดเวทีครั้งนี้เพียงครึ่งวันในการรับฟังปัญหาและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าเวลาไม่เพียงพอและวิธีการนี้ไม่ได้ผล ที่ผ่านมาเรามีการจัดแฟลชม็อบตามมหาวิทยาลัย เพื่อให้กมธ.ได้ลงไปรับฟังความคิดเห็นตามที่นักศึกษาเสนอ เพราะตัวแทนนักศึกษาไม่กี่คนที่มานั่งอยู่ในห้องนี้ช่วยอะไรพวกท่านไม่ได้ เราเสนอความเห็นอะไรไม่ได้ เพราะไม่สามารถพูดได้ว่าพวกเราเป็นตัวแทนนักศึกษานับแสนคนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรา 44 ได้ให้สิทธิเสรีภาพชุมนุมไว้ แต่ก็มีการเข้ามาห้ามโดยอ้างเรื่องความมั่นคง จึงอยากถามว่าความมั่นคงนี้เป็นของใคร ประเทศชาติ ประชาชน หรือความมั่นคงของอดีตคสช. วันนี้เราจึงขอเชิญพวกท่านลงไปรับฟังความคิดเห็นที่มหาวิทยาลัย ไม่ต้องกลัวโควิด-19 พวกเราเตรียมความป้องกันไวรัสไว้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษายังได้เรียกร้องให้ยกเลิกบทเฉพาะกาล มาตราสุดท้ายที่นิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหารของคสช. เพราะเห็นว่าคนที่ทำการรัฐประหารควรได้รับการลงโทษ อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองหน้ากระดาษในการเขียนรับรองเรื่องนี้ไว้

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: