ฟินแลนด์เตรียมให้พ่อแม่ลูกอ่อน “ลางานได้เท่ากัน”





ฟินแลนด์จะแก้ไขกฎหมายให้พ่อแม่ลางานไปเลี้ยงลูกในเวลาที่เท่ากัน เพื่อส่งเสริมให้พ่อใช้สิทธิลามากขึ้น พร้อมอนุญาตพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถลาได้เป็น 2 เท่า เพื่อให้ดูแลลูกได้อย่างเต็มที่

ฟินแลนด์เตรียมแก้ไขกฎหมายการลาให้พ่อแม่ลูกอ่อนสามารถลาไปเลี้ยงลูกนานเท่ากัน โดยรัฐบาลระบุว่า นโยบายใหม่นี้ได้คำนึงถึงตัวเด็กเป็นหลัก โดยจะมีผลบังคับใช้ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2021 

นโยบายใหม่นี้จะอนุญาตให้พนักงานที่ตั้งครรภ์สามารถลาได้ 1 เดือนก่อนวันกำหนดคลอด และพ่อกับแม่แต่ละคนสามารถลางานได้เป็นเวลา 164 วันเท่ากัน และพ่อแม่จะสามารถโอนวันลาของตัวเองไปให้อีกฝ่ายได้มากสุด 69 วัน ส่วนพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวจะสามารถลางานไปเลี้ยงลูกได้รวม 328 วัน 

ปัจจุบันที่ฟินแลนด์อนุญาตให้ผู้หญิงลาได้ประมาณ 4 เดือน ส่วนผู้ชายสามารถลาไปเลี้ยงลูกไปประมาณ 2 เดือน จนลูกอายุถึง 2 ปี แต่ที่ผ่านมา มีพ่อลูกอ่อนเฉลี่ย 1 ใน 4 เท่านั้นที่ใช้สิทธิลาเลี้ยงลูกตามกฎหมายอนุญาต

ไอโน-ไคซา เพโคเนน รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคมและสาธารณสุขเขียนในแถลงการณ์ว่า นโยบายใหม่ที่ให้พ่อแและแม่ลาได้เท่ากันเป็นการให้ความสำคัญกับเด็กเป็นอันดับแรก ให้พ่อแม่ได้ใช้เวลากับลูกมาขึ้นกว่าเดิม ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งยังเหมาะสมกับครอบครัวทุกรูปแบบ

นโยบายใหม่นี้ออกมาเพียงไม่กี่เดือน หลังจากที่ฟินแลนด์เพิ่งได้ซานนา มาริน วัย 34 ปีเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้นำประเทศที่อายุน้อยที่สุดในขณะนี้ โดยรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม 5 พรรค ซึ่งทุกพรรคมีหัวหน้าพรรคเป็นผู้หญิง และเกือบทุกคนอายุไม่เกิน 35

มารินมองว่าฟินแลนด์ยังมีทางปรับปรุงความเท่าเทียมทางเพศดีขึ้นกว่าปัจจุบัน และเธอยังวิจารณ์ว่า พ่อทั้งหลายใช้เวลากับลูกน้อยเกินไปในช่วงที่ลูกยังเล็ก และการแบ่งเบาภาระทางบ้านระหว่างสามีภรรยายังจะลดความเสี่ยงต่อการหย่าร้างอีกด้วย

นโยบายใหม่นี้ยังถูกมองว่าเป็นความพยายามในการกระตุ้นอัตราการเกิดของฟินแลนด์ หลังจากที่อัตราการเกิดในสวีเดนและไอซ์แลนด์เพิ่มขึ้นเมื่อมีการให้สิทธิพ่อลาเลี้ยงลูกมากขึ้น เนื่องจากช่วงปี 2011 – 2018 อัตรการเกิดในฟินแลนด์ตกลงมาประมาณ 1 ใน 5 มาอยู่ที่ 47,577 คนเท่านั้น จากประชากรทั้งหมดในประเทศประมาณ 5.5 ล้านคน

ที่มา : CNNBBCAl Jazeera, voicetv

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: