อปท.ยอมรับไม่พร้อมเก็บภาษีที่ดิน เพราะขาดแคลน “คน-เงิน-เวลา”





พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 และกำหนดให้เริ่มการจัดเก็บภาษีที่ดินฯใหม่นี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 แต่จากความไม่พร้อม กระทรวงมหาดไทยจึงประกาศให้ขยายระยะเวลาดำเนินการ ของผู้มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาในพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เป็นการทั่วไป เฉพาะการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปี 2563 จากเดิมที่ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2563 ไปเป็นเดือนมิถุนายน 2563

โดยที่ภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปีภาษี 2562 ยังคงมีอยู่ตามเดิม เพื่อให้ในช่วงเวลาที่ขยายการเรียกเก็บภาษีนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีเวลาเตรียมการให้พร้อม โดยเรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องดำเนินการมี 5 เรื่อง และผู้มีภาระภาษีต้องดำเนินการ 2 เรื่อง (ตามตารางประกอบ)

นายวรงค์ คลังเงิน ท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กฎหมายภาษีที่ดินใหม่นี้กำหนดให้ท้องถิ่นทุกแห่งทำหน้าที่จัดเก็บ โดยในจังหวัดอุดรธานี มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 180 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลตำบล (ทต.) ซึ่งทางจังหวัดอุดรธานีได้สั่งการไปยังนายอำเภอ และแจ้งคณะผู้บริหารอปท.ต่างๆ ให้เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ

เช่น การจัดทำแผนที่ภาษี ทะเบียนทรัพย์สิน แจ้งแนวทางปฏิบัติในด้านต่างๆ โดยละเอียด ไปยังอปท.ทุกแห่ง และเร่งรัดติดตามการดำเนินการตามคำสั่งและแผนปฏิบัติตามระเบียบกำหนด และตามตารางกำหนดของกระทรวงมหาดไทย โดยทางจังหวัดได้เตรียมการจัดหาบุคลากรผู้ทำหน้าที่ในแต่ละท้องที่ และทำการอบรมให้ความรู้ในการทำหน้าที่ดังกล่าวไปแล้ว

แหล่งข่าวจากอปท.แห่งหนึ่ง กล่าวว่า แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทยได้ขยายเวลาดำเนินการ 5 เรื่องให้อปท.ไปแล้ว มีหลายปัญหาที่ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลัง เนื่องจากภาระงานตามกฎหมายใหม่นี้มีค่อนข้างมาก ขณะที่ศักยภาพขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลตำบลในแต่ละพื้นที่มีความสามารถไม่เท่ากัน บุคลากรที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีมีน้อย ไม่มีความชำนาญกับเนื้องานจากกฎหมายภาษีใหม่นี้

ปัญหาแรก คือ การจัดทำแผนที่ภาษี โดยเฉพาะพื้นที่ว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์ในพื้นที่ เดิมไม่มีการจัดเก็บภาษี ที่ดินลักษณะนี้มีเป็นจำนวนมาก อยู่ห่างไกลชุมชน เมื่อเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสำรวจและขอพบเจ้าของที่ดิน พบว่าเจ้าของที่ดินบางรายไม่ได้อยู่ในพื้นที่ หรืออยู่ในแปลงที่ดินแต่ไม่อยู่บ้าน ส่วนในรายที่ได้พบเจ้าของที่ดินก็ปรากฏว่าเป็นผู้สูงอายุ ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจประเด็นการจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่นี้ บางรายต้องพูดคุยกันหลายครั้งกว่าจะเข้าใจ

ส่วนระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ก็ค่อนข้างจำกัด แม้มหาดไทยจะได้ประกาศขยายเวลาออกไป แต่ยังเกรงว่าจะไม่เพียงพอ ทำให้การดำเนินการในภาพรวมไม่สมบูรณ์ ไม่มีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ ซึ่งยิ่งจะกลายเป็นปัญหาหมักหมมตามมาภายหลัง รวมถึงปัญหาที่ดินว่างเปล่าของกลุ่มนายทุนต่างๆ เมื่อกฎหมายใหม่จะใช้บังคับก็ใช้วิธีเลี่ยงภาษีโดยรีบหาพืชผลต่างๆ เช่น ต้นกล้วย มาปลูกในแปลงที่ดิน ทั้งที่ยังเพิ่งทำกันใหม่ๆ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อีกปัญหาคือเรื่องบุคลากรในอปท.ต่างๆ ที่มีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดของอปท.แต่ละแห่ง บางแห่งมีเพียง 2-3 หมู่บ้านก็ได้รับการยกฐานะเป็นอบต.หรือทต. บางพื้นที่ไม่มีสถานประกอบการเลย มีแต่ที่ดินทางการเกษตร การจัดเก็บรายได้ตามภาษีบำรุงท้องที่เดิม และงบประมาณส่วนท้องถิ่นที่ได้รับจัดสรรมาแต่ละปีก็แทบไม่พอในการบริหารงาน ทำให้มีคนและงบประมาณอย่างจำกัด การจะจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่ให้เกิดประโยชน์และมีประ สิทธิภาพสูงสุด ซึ่งต้องจัดทำฐานข้อมูลใหม่หมด จำเป็นต้องใช้คนและงบประมาณดำเนินการที่เหมาะสม และใช้เวลาดำเนินการ ซึ่งแตกต่างกันไปตามสภาพของ อปท.แต่ละแห่ง 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,545 วันที่ 2 – 5 กุมภาพันธ์ 2563

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: