เตรียมชงหน้ากากอนามัย-เจลล้างมือ เป็นสินค้าควบคุม เข้าครม.พรุ่งนี้ พร้อมกำหนดมาตรการคุมส่งออก





(3 ก.พ.2563)นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร.ครั้งที่ 1/2563 โดยมีเรื่องเพื่อพิจารณาสำคัญ คือ การกำหนดสินค้าควบคุมพ.ศ. 2562 เพิ่มเติมคือ 1.หน้ากากอนามัย 2.เส้นใยโพลีโพรพิลีน(สปันบอนด์)เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย 3.ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ โดยอาศัยอำนาจทางกฎหมายของพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 การกำหนดมาตรการบริหารจัดการสินค้าควบคุมพ.ศ. 2562 (เพิ่มเติม)

โดยที่ประชุมกกร. มีมติเห็นชอบให้กำหนดหน้ากากอนามัย และเจลล้างมือเป็นสินค้าควบคุม  หลังจากนี้จะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันพรุ่งนี้(4 ก.พ.) เพื่อให้ความเห็นชอบ และหากที่ประชุมครม.ให้ความเห็นชอบก็จะเร่งดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ในทันที ซึ่งทำให้สินค้าควบคุมตามกฏหมายเพิ่มขึ้นจาก 52 รายการที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็น 54 รายการ

“ถ้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบให้ทั้งหน้ากากอนามัยและ เจลล้างมือเป็นสินค้าควบคุมก็จะทำให้สามารถดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามมาได้ในการที่จะควบคุมทั้งในเรื่องของปริมาณและในเรื่องของราคา เช่น กรมการค้าภายในสามารถที่จะกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกต้องแจ้งข้อมูลในเรื่องต้นทุนราคาซื้อราคาขาย ปริมาณการผลิต ปริมาณการนำเข้า ปริมาณการส่งออกหรือปริมาณสต๊อกได้ในทันที อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวจะใช้ในระยะสั้นเท่านั้น หากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาคลี่คลายก็อาจจะมีการยกเลิกการควบคุมโดยเร็ว”

ส่วนเรื่องการส่งออกหน้ากากอนามัยไปนอกราชอาณาจักรไทยนั้น จะมีการพิจารณาเป็นมาตรการต่อไป เบื้องต้นกำหนดให้ผู้ส่งออกหากส่งออกเกิน 500 ชิ้นหรือ 10 กล่องจะต้องขออนุญาตจากกรมการค้าภายในก่อน เพื่อควบคุมปริมาณการผลิต ความต้องการใช้ ไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ภายในประเทศ ส่วนผู้ที่ซื้อเพื่อนำออกนอกประเทศนั้น เบื้องต้นกำหนดต้องไม่เกิน 10 ชิ้นต่อคน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะประสานกับศุลกากรในการเข้มงวดการสุ่มตรวจ

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า  การที่กกร.กำหนดให้สินค้าข้างต้นเป็นสินค้าควบคุม จะทำให้กรมสามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542  ได้ ซึ่งกำหนดโทษไว้อย่างชัดเจน เช่น  หากพบว่ามีการกักตุนสินค้าและฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่ผู้บริโภค พบเห็นการฉวยโอกาสขึ้นราคาโดยไม่เป็นธรรม หรือพบเห็นผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สามารถร้องเรียนได้ทางสายด่วน 1569 หรือร้องเรียนได้โดยตรง ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายทันที เช่น ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการกับร้านค้าย่านสำเพ็งที่จำหน่ายหน้ากากอนามัยแพงกว่าปกติ โดยพบว่าขายหน้ากากอนามัยแบบ N95 จากเดิม 60 บาทปรับเป็น 80 บาทต่อชิ้น โดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งได้สั่งฟ้องไปแล้ว และขณะนี้สายด่วน 1569 ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่าไม่มีหน้ากากอนามัยจำหน่าย ถูกโก่งราคากว่า 100 เรื่อง และยืนยันว่าจะลงพื้นที่ตรวจสอบดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน รวมทั้งการโก่งราคาจากผู้ค้าออนไลน์ หากพบเห็นก็สามารถแจ้งมายังสายด่วน 1569 ได้เช่นกัน

“ในเรื่องของการเอาผิดขอให้ประชาชนเข้าใจว่าราคาหน้ากากอนามัยมีหลายราคา ขึ้นอยู่กับวัสดุ คุณภาพทำให้ราคาแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และกรมต้องหารือร่วมกับผู้ประกอบการอีกครั้งเพื่อชี้แจงถึงมาตรการที่ภาครัฐนำออกมาใช้” นายวิชัย กล่าว

ข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: